การ Entrance และ บรรยากาศการ Entrance
ช่วงนี้มีข่าวมติ ครม ที่ประกาศยกเลิกการ Admission ในปี 2561 หรืออีก 2 ปี แล้วจะรื้อการ Entrance มาอีกครั้ง ผมเป็นคนรุ่นรองสุดท้ายที่ได้ Entrance (แบบสองรอบ) ก่อนเปลี่ยนเป็น Admission เลยคิดว่าเอาบรรยากาศเก่าๆมาเล่าสู่กันฟังดีกว่า (แก่หรือยังนับกันเอา 555)
เริ่มต้นด้วยการเล็งคณะที่ชอบ แล้วไปซื้อผลคะแนนย้อนหลังมาดูก่อน
ทุกปี จะมีการทำแผ่นพับผลคะแนนของคนที่ได้เรียนทุกคณะ ทุกมหาวิยาลัยย้อนหลัง 3 ปีออกมาขายออกมาแจก โดยแผ่นพับนั้น จะมีทุกมหาวิยาลัย และมีทุกคณะเลย เช่น อยากเข้าคณะ วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ก็ไปไล่อ่านดู เมื่อเจอแล้ว เค้าจะบอกคะแนนสูงสุด – ต่ำสุด เอาไว้ และมีย้อนหลัง 3 ปีเลยด้วย เว้นแต่คณะเปิดใหม่ ก็จะมีแค่ปีล่าสุด หรือว่า ไม่มีผลคะแนนเลย อย่างของผม จำได้แม่นว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเป็นปีแรกที่ผมจะยื่น จึงไม่มีผลคะแนนย้อนหลัง แบบนี้ วัดดวงอย่างเดียวจ้า
เลือกคณะที่ชอบเอาไว้ 4 คณะ(4 มหาวิทยาลัย)
ปกติเราก็จะเลือกคณะที่จะเรียนกันเอาไว้ก่อน แล้วคละมหาวิทยาลัย โดยเรียงมหาวิทยาลัยที่คะแนนสูงสุดมาต่ำสุด แต่เราจะเลือกคณะที่แตกต่างกันก็ได้ ไม่ได้ห้ามอะไร
เลือกสอบวิชาบังคับสำหรับการยื่นคะแนน
ไม่ใช่ว่าเราจะเลือก วิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ รัฐศาสตร์ จะสามารถทำได้ทันที เพราะว่า แต่ละคณะเราต้องไปศึกษาว่าวิชาบังคับมีวิชาอะไรบ้าง เราต้องเตรียมลงทะเบียนสอบให้ได้ครบตามวิชาที่กำหนด แต่มันจะมีปัญหาว่า เวลาสอบมันจะใกล้กันมาก (บางวิชาสอบวันเดียวกัน บางวิชาสอบเวลาเดียวกัน ส่วนใหญ่จะเป็นคนละสาย เช่นวิชาสายวิทย์บางวิชาสอบพร้อมกับสายศิลป์บางวิชา) และจะเหนื่อยมากถ้าเราสอบกว้างเกินไป เพราะว่าถ้าเราสอบเพื่อเข้าสายวิศวกรรมศาสตร์อย่างเดียว ก็ไม่ต้องสอบเยอะมาก จำได้ว่า คณิต ฟิสิกส์ เคมี ชีวะไทย อังกฤษ พื้นฐานทางวิศวกรรม แต่ถ้าคณะอื่นก็จะมีมากกว่านี้อีก ก็ว่ากันไปตามคณะที่เลือก ดังนั้น คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสอบให้หลากหลายมาก หากรู้ว่าตัวเองอยากเรียนต่ออะไร นี่เป็นเรื่องที่ต้องเลือกกันตั้งแต่เนิ่นๆ ก็มีบ้างที่คนเปลี่ยนสายไปสอบสายอื่นเลย จุดเปลี่ยนชีวิตก็อยู่กันตรงนี้แหล่ะ
อ่านหนังสือ อ่านหนังสือ อ่านหนังสือ
จากนั้นก็เป็นการอ่านหนังสือ ก็จะมีรวมข้อสอบย้อนหลัง ก็เอามานั่งทำ แนวทางก็ไม่เหมือนเดิมทั้งหมด แต่เรื่องก็ไม่ได้หนีจากเดิมเท่าไร และไม่ค่อยมีข้อสอบประหลาด เหมือนอย่างที่แชร์ตาม internet สักเท่าไรครับ จะเป็นแนวเนื้อหาในวิชานั้นซะเป็นส่วนใหญ่มากกว่า คือเน้นที่ฐานความรู้ของวิชานั้นๆ
ถึงเวลาสอบ ก็ไปตามวันเวลา จัดการชีวิตตัวเอง
อันนี้ต้องวางแผนกันให้ดี ว่าใครได้สนามสอบที่ไหนก็ไปตามนั้น ตามวัน เวลา แล้วก็ไปสอบ สอบเสร็จก็เผ่นกลับบ้าน เตรียมสอบวิชาอื่นต่อ ยางลบ ดินสอ 2B ขาดไม่ได้ เหลาไปหลายๆแท่ง
สอบสองครั้ง
การ entrance จะทำพร้อมกันทั่วประเทศ และมีปีละ 2 ครั้ง เป็นมหกรรมการสอบที่ยิ่งใหญ่มาก จำได้ว่าปีละประมาณ 2 แสนคน และบางคนชี้ชะตาตั้งแต่การสอบครั้งแรกเลย ทุกวิชา จะมีคะแนนเต็ม 100 คะแนนเสมอ ได้เท่าไร ก็ตามนั้นเลย ใช้คะแนนยื่น โดยการสอบสองครั้ง ก็คือ ให้เอาคะแนนครั้งที่ดีที่สุดยื่นเพื่อเลือก entrance เข้าที่ไหน เช่ย เคมีครั้งแรกดีกว่า เอาครั้งแรกยื่น แต่ฟิสิกส์ครั้งสองดีกว่า เอาครั้งสองยื่นอะไรแบบนี้ และการสอบสองครั้งไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าครั้งที่สองจะดีกว่า เพราะหลายคน ครั้งที่สอง แย่กว่าครั้งแรกมากก็มี
คะแนนสอบไม่ใช่อย่างเดียว แต่ GPA PR มีผลด้วย
คือเค้าเอาเกรดเฉลี่ยตอนจบ มัธยม มาคิดเป็นคะแนนให้เราด้วย ไอตรงนี้แหล่ะ ที่เราไม่รู้ว่าเราจะได้ประมาณเท่าไร เพราะ มันคือค่าคะแนนที่จะได้หลังจากที่ประมวลผลมาจากทั้งประเทศ นี่แหล่ะที่น่ากลัวตรงนี้ แต่ก็พอจะเทียบคะแนนกับปีเก่าๆได้อยู่บ้าง ก็พอจะประมาณได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ exactly เพราะว่าคู่แข่งเราไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากที่ไหนบ้าง โดยตรงนี้ จะมีผล 10% ของคะแนนที่ยื่นเลือก
ใครติดโควต้าชีวิตจะสบายกว่าเยอะ
ช่วงเวลาตอน ม. 6 จะมีหลายคณะหลายมหาวิทยาลัย เปิดโควต้าให้สอบตรงเป็นระยะๆ อันนี้ต้องหูไวตาไวเสาะหาข้อมูลกันมาเองเพราะว่าไม่ใช่ทุกบ้านจะมี internet และสื่อ internet ก็ยังไม่ได้พัฒนา และเร็วอย่างตอนนี้ (ตอนนั้น ประมาณ ADSL 0.2Mbps อยู่เลย) และใครที่สอบติดแล้ว ก็เรียกได้ว่าลอยตัวเข้ารอบไปก่อนเลย เพราะว่าไม่ต้องมาเสียเวลาสอบ entrance อีก แต่บางคนติดแล้วก็ยังสอบเพราะอาจจะปฏิเสธหากคะแนน entrance ออกมาดีมาก เพราะตัวเลือกก็จะได้เยอะขึ้น แต่สุดท้ายเค้าจะให้ไปรายงานตัวก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ทิ้งโควต้าอะไรแบบนี้ แต่บางคนก็ทิ้งตอนรายงานตัวนี่แหล่ะ ข้อเสียเรื่องนี้ก็คือ ต้องเตรียมสอบเยอะมาก เตรียมสอบในโรงเรียน เตรียม ent เตรียมสอบโควต้าอีก โอยเยอะไปหมด
ยื่น entrance ตัดสินชีวิต
ตรงนี้ ที่ตัดสินชีวิตหลายคนเลย ว่าจะต้องยื่นเข้าคณะไหน มหาวิทยาลัยอะไร เราต้องวางแผนให้ดี เพราะว่าเราจะเลือกได้ครั้งเดียว 4 คณะ(มหาลัย) เท่านั้น ผมจำได้ว่า เลือกที่แรก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อันดับสอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ยุคนั้น วิศวกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ต้องเข้าไปเรียนรวมกันทั้งหมด แล้วค่อยเอาเกรดตอนปี 1 ยื่นเลือกภาควิชาอีกทีตอนปี 2 ผมก็หมายเอาไว้แล้ว ว่าต้องเป็นคณะ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์แน่ๆ) อันดับสาม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อันดับสี่ คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชมงคล คลอง 6 โดยอันดับสุดท้ายจะต้องเป็นอันดับที่มั่นใจว่า ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม คะแนนเราผ่านเข้าไปได้เรียนแน่นอน เพื่อเป็นการการันตีว่า เราได้เรียนที่ใดสักที่หนึ่ง หนึ่งในสี่นี้แน่นอน ผมก็เลือกไปตามนั้นครับ (ไม่งั้นจะได้ยินคำว่า เอ็นท์ไม่ติด!! และเอาคะแนนปีนี้ หรือ สอบใหม่เอาคะแนนยื่นปีถัดไป หรือ ไปเรียนเอกชนเลยถ้าไม่อยากเสียเวลา)
รอผลอย่างใจจดใจจ่อ ประกาศ online แล้วเว็บต้องล่ม
ยุคนั้นเทคโนโลยีต่างๆยังไม่ค่อยพัฒนาเท่าไร เค้าจะประกาศผลทาง internet ก่อนที่จะประกาศตามมหาวิทยาลัย ก็คือเราต้องเช็คผลก่อน โดยใส่รหัสสอบเข้าไป แล้วเค้าจะประกาศโต้งๆเลย ว่าเราติดที่ไหน หรือไม่ติดเลย!! แต่ต้องดูเวลาด้วย บ้านใครมี internet ก็จะตรวจกันดึกๆก่อนเลย แต่จำได้ว่า มันล่มตั้งแต่ 4 ทุ่มเลย จนจะใช้ได้ก็ต้องดึกมากๆ แล้วตอนกลางวันก็ล่มอีก ล่มแล้วล่มอีก จนเป็นข่าวเรื่อยๆ นี่จะเป็นจุดชี้อนาคตอีกจังหวะหนึ่งเลย ส่วน board ตามมหาลัยจะไปดูหรือไม่ก็ได้ (ถ้ารู้ผลอยู่แล้ว) แล้วแต่เรา แต่คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะไปดูซ้ำ ว่าติดที่ไหนเพื่อให้เป็นที่ประจัก ว่าตรูติดแล้วจริงๆนะเว้ย อีกทั้ง จะมีรุ่นพี่ของคณะและมหาลัยต่างๆ ไปเปิดซุ้มเพื่อต้อนรับน้องๆที่จะเข้ามาเป็น freshy ของคณะตัวเองอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นวันที่ปลดปล่อยสุดๆของชีวิต (พูดแล้วยังขนลุก และยังจำภาพวันนั้นได้อยู่จนวันนี้เลย) ตอนนั้นเป็นการประกาศที่ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บางเขน ก็ส่องกันไปหาชื่อตัวเองให้เจอ แล้วด้านหลังจะบอก ชื่อ กับคณะ มหาวิทยาลัยเอาไว้ แล้วในเวลาถัดมาอีกอึดใจ ผลการสอบก็จะร่อนจดหมายมาถึงบ้าน เพื่อเป็นหลักฐานว่าเราติดที่ไหน
ความภูมิใจ อันร่อแร่
ตอนแรกเราจะรู้แค่ว่า เราติดที่ไหน แล้วอีกไม่นาน ก็จะมีประกาศคะแนนสูงสุดตำสุดของแต่ละคณะออกมาเหมือนทุกปี ผมพบว่า ผมขาดไปประมาณ 4 คะแนน ก็จะติด อันดับหนึ่ง คือ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ พระจอมเกล้าพระนครเหนือ แต่มาติดอันดับที่สอง คือ วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ด้วยคะแนน น่าจะเป็นคนรองสุดท้ายของคณะที่ติด คือผมได้คะแนนสูงกว่าคะแนนต่ำที่สุด ของคณะที่ 0.03 คะแนน!! ยังจำได้ไม่ลืมจนวันนี้ เรียกได้ว่า กาข้อสอบวิชาใดวิชาหนึ่งผิดไปข้อหนึ่ง ก็ไม่ได้เรียนที่นี้แน่นอนที่สุด แต่ผมก็ลากตัวเองเรียนมาให้จบอย่างน่าภูมิใจได้แบบชนิดที่ว่า ไม่ใช่ที่สุดท้ายของคณะ แต่ก็ไม่ได้เก่งมากเท่าไร เพราะจบเกรดไม่สวยเท่าไร แต่ไม่เคยมี W, F ใน transcript เลยสักตัวเดียว นับเป็นความน่าภูมิใจเล็กๆ 555
การคัดเลือกยังไม่จบ
สำหรับคนอื่นจบไปตั้งแต่ entrance แล้ว แต่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เค้าให้นักศึกษาเรียน 1 ปีร่วมกันทั้งหมด ยังไม่แบ่งแยก ภาควิชา ทุกคนต้องแข่งขันกันทำเกรดเพื่อจะเอาเกรดทั้งสองเทอมไปยื่นเลือก ภาควิชา และสิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบก็คือ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ รับน้อยมาก จำได้ว่า 20 คน และคนที่ยื่นก็เป็นระดับหัวกะทิทั้งนั้น ผมนี่ say bye ตั้งแต่เห็นคะแนนสอบวิชา calculus กลางเทอม 1 ละ จำได้แม่นมาก 7 เต็ม 40 เกือบ drop เลยทีเดียว และการคัดเลือกจากเกรด ก็แตกต่างจาก entrance ก็คือ เค้าจะเอาคนที่เลือกภาควิชานั้นอันดับหนึ่ง มาคัดก่อน ถ้าเต็ม คนที่เหลือตัดทิ้งหมด ไม่ได้เอาคนที่เลือกทั้งหมดมาคัดพร้อมกัน เช่น ผมรู้ว่า ภาคคอม รับแค่ 20 คน แล้วมั่นใจว่าเกรดไม่ถึงแน่ๆ ผมก็ไม่เลือกภาคคอมอันดับหนึ่งเลย ไปเลือก ไฟฟ้าเป็นอันดับหนึ่งเลย มั่นใจว่าได้แน่อะไรแบบนี้ครับ ซึ่งจุดนี้เป็นประเด็นมาก เพราะว่าหลายคนไม่ได้ภาคที่ตัวเองต้องการ ก็ถึงกับซิ่วเลยทีเดียวเพราะเค้าก็มีโอกาสที่จะไม่ได้ภาควิชาที่เป็นอันดับที่สองด้วย แม้ว่าเกรดจะดีก็ตาม เพราะหากอันดับที่สองที่เลือก มีคนอื่นเลือกเป็นอันดับที่ 1 จนเต็มหมด ก็ต้องตกลงไปเป็นอันดับถัดไปอีก
สุดท้ายผมก็เลือกเรียนวิชาที่น่าสนใจ คือ ไฟฟ้า (อิเล็กทรอนิกส์) ปัจจุบัน คืนอาจารย์ไปค่อนข้างเยอะและ เพราะเรียนจบมา ผมก็มาทาง computer อย่างเดียวเลย 5555 ก็ถือว่าเป็นคนหนึ่งที่ทำงานไม่ตรงสาย แต่ได้ทำงานที่ตัวเองรัก ผมยังคิดอยู่เสมอว่า ถ้าผมได้เรียนมาตรงสายน่าจะไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก แต่ว่านั่นก็เป็นอดีตไปแล้ว เพราะว่า มาถึงวันนี้ผมก็พิสูจน์ตัวเองได้ว่า แม้ไม่ได้จบตรงสาย แต่ก็ทำงานได้ดี มีความสามารถไม่น้อยหน้าคนที่จบมาตรงสายเลย
ก็ขอให้สู้ๆกันต่อไปนะครับ สิ่งหนึ่งที่ผมจะฝากเอาไว้ก็คือ พยายามค้นหาตัวเองให้เจอครับ แล้วเลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองรัก เพราะสี่ปี เป็นอะไรที่ยาวนานและทรมานมาก หากต้องเรียนในสิ่งที่ตัวเองก็คิดไม่ออกว่าจะเอาไปใช้อะไรได้อย่างไรบ้างครับ