แด่ programmer ผู้สับสนในชีวิต

manager or specialist

น้องที่เคยทำงานด้วยกันมาปรึกษา ด้วยคำถามง่ายว่า “ทำไมงานคุยกับคนแม่งยากจังวะพี่” ผมก็ตอบไปสั้นๆว่า “ถ้าเอ็งจะเป็น manager เองก็ต้องเจอเรื่องแบบนี้แหล่ะ” แล้วผมก็คุยต่ออีกพักนึง เลยคิดว่า เอาเรื่องนี้มาเล่าให้ทุกคนได้ฟังดีกว่า เพราะว่าคำถามนี้ “ผมผ่านมันมาก่อนแล้ว” โดยผมจะเขียนเนื้อหานี้ เพื่อให้ programmer/developer/manager ที่กำลังตัดสินใจว่าตัวเองจะเลือกเดินทางไหน ระหว่าง manager หรือ specialist เพราะมันจะมีผลในระยะยาวต่อหน้าที่ การงาน การเติบโตต่างๆทั้งหมด

เนื้อหานี้ ยาว ถ้าคนที่มีเวลาน้อยมาก ข้ามไปย่อหน้าสุดท้าย ช่วงสรุปได้เลย

ค้นหาตัวเองเจอแล้วหรือยัง

คำถามแรกที่ผมจะใช้ถามเพื่อให้ตอบอย่างชัดเจน ‘ค้นหาตัวเองเจอหรือยัง’ ว่ารัก หรือว่าชอบทำอะไรกันแน่ บางคนก็บอก เจอแล้ว แต่ถามไปถามมา พบว่าเค้าคิดว่าตัวเองเจอ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ ตัวอย่าง มีน้องคนนึงที่คิดว่าเค้าชอบการ coding มาก และรักมัน สามารถทำงานกับมันได้อย่างสนุก แต่ว่าในตอนที่ทำงานจริง พอเจอโจทย์ยาก ก็กลับไม่สามารถแก้ไขมันได้ หรือว่างานที่ง่ายๆ กับเขียนออกมาแล้วก็มี bug ได้ เรียกได้ว่า skill เอาตัวรอดยังแย่เลย แบบนี้ ถ้าจะต่อยอดด้าน specialist นี่ยากแน่นอน หรือว่า บ้างก็บอกว่า รักมาก เรื่อง technical/coding เนี่ย แต่พอถามเรื่องการทำงานของเรื่องนั้น หรือว่าเรื่องที่เป็นเรื่องพื้นฐานกลับตอบไม่ได้ (เพราะว่าไม่ได้ใส่ใจเรื่องพื้นฐาน ซึ่งการต่อยอดขั้นสูง จะใช้เรื่องพื้นฐานเยอะมากๆ) หรือบางคนก็บอกว่า ชอบมากเลยการคุยกับคนเนี่ย แต่พอต้องเข้ามาคุม project ได้เพียงแค่ project เดียว ลาออก! เพราะบอกว่า handle ทุกเรื่องจากทุกคนไม่ไหว เป็นต้น

ผมมีหลักการง่ายๆ ที่เอาไว้ใช้ทดสอบกับตัวเองว่าเรามาทางที่ใช่แล้วหรือยัง ก็คือ เราสามารถทำงานนั้นได้ และ ทำออกมาได้ดี โดยที่เราไม่รู้สึกอยากจะลาออกให้จบๆไป หรืออาจจะมีความคิดแว้บขึ้นมาบ้างว่าท้อ เหนื่อย ล้า แต่เมื่อสุดท้ายทำงานจนสำเร็จได้แล้ว เรามีความรู้สึกว่า อยากทำอะไรแบบนั้นอีก แบบนี้ก็เข้าทางว่าใช่แล้วล่ะ คือเราต้องแยกให้ออก ว่างานเครียดน่ะใช่ งานไหนๆบริษัทอะไรก็เครียด แต่ว่าเราก็ต้องดูให้เป็น ว่านี่คือชั่วคราวหรือเปล่า

คุยกับคน ไม่ใช่คุยกับคอม

เรื่องนี้ ผมแนะนำว่าอยากให้ programmer/developer ที่แม้ว่าเป็นสาย specialist ก็ตาม อยากให้ฝึกเอาไว้ และเป็น skill ที่ส่งเสริมหน้าที่การทำงานคุณได้ คุณลองจินตนาการ ถ้าคุณรับหน้าที่ไปเค้นความจริงบางเรื่อง กับคนที่ เสียสติอยู่ คุณจะต้องเสียสติตามไปด้วยแน่ๆ หรือไม่ก็รู้สึกว่าเสียเวลาไปกับการคุยกับคนเหล่านั้น ใช่ครับ ถ้าคุณเอาแต่พูดเรื่องที่เป็นเชิงลึกที่เค้าก็ไม่เข้าใจ สุดท้ายก็ไม่มีใครอยากคุยกับคุณหรอก ไปคุยกับคนที่เข้าใจดีกว่า

เรื่องนี้มีเรื่องจริงก็คือ มีคนที่เก่งกว่าผม ที่เค้าทำงานในบริษัทเดียวกัน แต่ว่าเวลาหัวหน้าจะถามเรื่องงาน เค้ามักจะอยากคุยกับผมมากกว่าอีกคนหนึ่งที่เก่งกว่า สาเหตุเพราะว่า คุยกับผมแล้วเข้าใจ หัวหน้าเคยเอ่ยถึงขนาดว่า ถ้าจะคุยกับคนนี้ให้เข้าใจ ต้องทำอย่างไร? แล้วผมคุยกับเค้าเข้าใจได้อย่างไร? ผมก็ได้แต่หัวเราะ แล้วบอกว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในประเภทเดียวกับเค้าแหล่ะ แต่ว่าผมก็เข้าใจอีกด้านที่ทางหัวหน้าต้องการด้วย เลยคุยกันเข้าใจ

อย่ามองคน เหมือนอย่างมองคอมเด็ดขาด

ถ้าคนที่เป็นสาย technical มาจะรู้เลย ว่าเวลาเราสั่ง computer ทำงาน มันจะทำตามอย่างที่เราสั่ง และมันจะทำอย่างนั้นตลอดไป ไม่เบี้ยว ไม่อู้ ไม่เฉไฉ ไม่ขี้ลืม ฯลฯ แต่ คน จะไม่ได้เป็นอะไรแบบนั้น เมื่อเราสั่งอะไรไปแล้ว เราต้องมีการติดตาม วัดผล ควบคุม ดูแล และต้องใช้ระยะเวลา เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถทำงานได้อย่างที่เราต้องการ แต่บางครั้ง คนก็ให้ผลลัพท์ที่ดีกว่าที่เราต้องการได้ ถ้าเรารู้จักป้อนคำสั่งให้อย่างถูกต้อง ซึ่งเรื่องแบบนี้ จะไม่เกิดขึ้นกับ computer อย่างแน่นอน

เช่น ผมเคยสั่งให้น้องเขียนรายงานสรุป ส่งให้ผมทุกสัปดาห์ เพราะว่า ผมเปิดอิสระให้ในการทำงาน ก็คือ ผมอธิบายว่างานคืออะไร เราต้องทำประมาณไหน แล้วผลลัพท์ที่เราอยากได้คืออะไร ดังนั้น ขอมาคุยกันสัปดาห์ละครั้งพอ ผลที่ผมได้ คนหนึ่ง ลืมเขียนส่ง ผมต้องเป็นคนติดตามเอง ถึงสองสัปดาห์ติดกัน สัปดาห์ที่สาม ถึงจะส่งมาเองโดยที่ผมไม่ตาม แต่ว่า อีกคนหนึ่ง ที่ให้อิสระในการทำงานเหมือนกัน มีการรายงานผลเป็นระยะๆ และเมื่อสิ้นสัปดาห์ก็สรุปได้โดยที่ผมไม่ต้องทวง อีกทั้งงานที่ทำออกมา ก็ได้เกินกว่าที่ผมคาดคิดเอาไว้อีกด้วย นี่แหล่ะ ความเฉพาะของ ‘คน’

เราจึงไม่สามารถเอาคนไปเปรียบกับคอมได้ เพราะไม่มี logic หรือ แนวการสั่งงานแบบใด แบบหนึ่ง ที่ใช้ได้ผลดีกับทุกๆคน

ชอบแบบกว้าง หรือ ชอบแบบลึก

คนที่เป็น manager จะต้องมีความเฉพาะตัวแบบหนึ่ง ก็คือ จะมีความรอบรู้ที่กว้างมากๆ ไม่ใช่แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่มันคือ ทุกๆเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้องาน ตัวอย่าง ถ้าเป็นคนที่ดูแลเรื่อง eCommerce คนที่เป็น manager ก็จะต้องมีความรอบรู้ ไล่ตั้งแต่ Infrastructure, Development, Warehouse Operation, Payment gateway, UX/UI, Accounting, Financial control, Legal, Logistics (ผมไม่ลงรายละเอียดแล้วกันนะ เพราะว่าเรื่องนี้ เล่ากันเป็นวันๆครับ) ลองจินตนาการดู ว่ากว่าเราจะรู้เรื่องแต่ละหัวข้อที่ list มา ต้องใช้เวลามากแค่ไหน แล้วยิ่งถ้าต้องรู้ทุกเรื่องด้วยแล้วล่ะก็…. นี่ล่ะครับคืองาน manager เลย

คนที่เป็น specialist จะมองเห็นอีกมุม เช่น specialist ด้าน Development เค้าก็จะต้องบอกได้ว่า ทำไมถึงเลือกใช้ภาษานี้ , ทำไมถึงต้องวาง software layer แบบนี้, ทำไมถึงเลือกใช้ component ตัวนี้, ทำไมถึงต้องเขียนโค้ดตาม standard นี้, การต่อยอดในอนาคตจะเป็นอย่างไร, การตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจยากมั้ย, database อะไร, มีการตอบสนองภายในเวลากี่ milli second เป็นต้น

ดังนั้น หัวข้อนี้จะทำให้แยกความเป็น specialist ออกจาก manager ได้ง่ายเลย เพราะบางคนบอกว่าเป็น manager แต่ว่าพอถามความรู้ในเชิงด้านกว้าง ดันไม่สามารถตอบความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องได้ แบบนี้ไม่ดีต่อหน้าที่การงานแน่นอน หรือว่า คนที่เป็น specialist แล้วโดยถามเจาะเข้าไปในเชิงลึกเรื่อยๆ แล้วตอบไม่ได้ แบบนี้ ก็ระวังเก้าอี้จะสั่นเอาได้

การเติบโตในหน้าที่การงาน

เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะมันกระทบต่อปากท้องนี่นา ต้องยอมรับว่า ปัจจุบัน (ปี 2560) ประเทศไทยยังให้ความยอมรับสาย manager มากกว่า specialist ทั้งในด้านหน้าตา, ตำแหน่งงาน, ผลตอบแทน, ความก้าวหน้า ดังนั้น ถ้าใครที่คิดจะโตเร็ว ก็ต้องเดินสาย manager อย่างเลี่ยงไม่ได้

แต่ไม่ได้หมายความว่า specialist จะด้อยกว่าสาย manager เพราะว่างานบางอย่างที่จำเพาะ เค้าก็ให้ความเคารพใน specialist มากกว่า manager มานานมากแล้ว แต่ถ้าถอยมามองภาพรวม จะเห็นว่า สาย specialist มีน้อยกว่าสาย manager แน่นอน

สำหรับในอุตสาหกรรม IT ซึ่งโชคดีที่ตลาดแรงงานเปิดกว้างทั่วโลก ดังนั้น คนทำงาน IT จึงไม่จำเป็นต้อง benchmark กับประเทศไทยอย่างเดียว แต่เรา benchmark กับทั้งโลก ซึ่งถ้ามองทั้งโลก จะเห็นว่า สาย specialist ใน IT สูสีกับ manager แล้ว ดังนั้น ณ ตอนนี้ ถ้าอย่างเป็น specialist ในสาย IT ลองมองงานต่างประเทศดูครับเค้าให้เยอะในแบบที่ manager มีอายครับ

อย่าข้ามสายไปมา

เรื่องหนึ่งที่จะทำให้เกิดความผิดพลาดต่อ career path ของตัวเองได้ ก็คือ การข้ามสายไปมา เพราะในชีวิตจริง เราไม่ได้มีเวลาเยอะมากที่จะให้เราลองเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แล้วทำให้เสียเวลาที่เราจะได้แข็งแรงในด้านใดด้านหนึ่งมากๆอีกด้วย อย่างที่เล่าไปข้างบนแล้ว ว่าจุดแข็งของแต่ละสายงานไม่เหมือนกัน

แต่ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ ใช่ครับ ถ้าเราไม่ได้ลองทำ เราก็จะไม่รู้ว่าเราชอบที่จะเป็น manager หรือว่า specialist มากกว่ากัน วิธีที่จะทดสอบมันเรียบง่ายมากครับ โดยเฉพาะกับคนที่เป็นสาย specialist แล้วอยากลองเป็น manager คุณก็แค่ไปคุยกับหัวหน้าคุณไงครับ ว่าอยากจะขอลองคุม project ดูบ้าง อยากทำงานที่มากกว่าคุยกับคอม แต่ต้องการบริหารทั้ง project เลย อาจจะเริ่มที่ project เล็กๆก่อนก็ได้ ซึ่งหัวหน้าเค้ายินดีแน่นอน เพราะว่า มีคนทำงานที่มากกว่าตำแหน่งตัวเองโดยยังรับเงินเดือนเท่าเดิม ซึ่งเมื่ออ่านถึงจุดนี้ บางคนอาจจะบอกว่า เป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะบริษัท ไม่ได้มีโครงสร้างอย่างนั้น บลาๆๆๆๆ นี่เป็นคำตอบแรกว่า “คุณไม่เหมาะจะเป็น manager” เพราะว่า นี่เป็นงานหนึ่ง ที่ manager จะต้องเจอบ่อยมากๆ ก็คือ “การคุยกับคน” และ “หาทางออก ให้ปัญหาที่คิดว่ามันเป็นไปไม่ได้” เพราะถ้าคุณได้เข้ามาอยู่สาย manager จริงๆ มันจะเจอความท้าทายแบบนี้ ให้คุณได้จัดการจนชินเลย และใครที่มี skill จัดการเรื่องพวกนี้ได้ดี ก็มีแนวโน้มความเป็น manager ได้สูงมาก

สำหรับคนที่จะข้ามจาก manager มาเป็น specialist ก็ไม่ยากอีกเหมือนกันครับ ก็คือ การที่ลูกทีมที่คุณดูแลอยู่ทำงานอะไรสักอย่างหนึ่งมา แล้วคุณทำเองคู่ขนานกันไปจนได้ผลลัพท์ได้ดีกว่า เร็วกว่า เจ๋งกว่า เป็นระยะเวลาหลายๆงานต่อเนื่องกัน โดยที่ไม่ท้อไปก่อน (ทำเอง หมายถึง เริ่มพร้อมกับน้องในทีมนะ ไม่ใช่เอางานน้องในทีมมาต่อยอดแล้วบอกว่าเจ๋งกว่า) นั่นแหล่ะ เริ่มจะเห็นความเป็นแวว specialist ออกมาแล้ว แต่ระวังเรื่องหนึ่ง ก็คือ การที่เราทำงานแล้วเอาไปเทียบให้ลูกน้องเห็นตรงๆ แบบนี้ คุณอาจจะกำลังทำลายทีมคุณเองโดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้ พวกนี้ต้องใช้เทคนิคครับ (งาน manager เลยนะเนี่ย) ถ้าจะบอกว่าเสียเวลา มันเป็น double work นะ ก็ต้องตอบว่า ใช่ครับ แต่ถ้าคุณไม่ทำ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณทำได้ หรือว่า เหมาะกับสายงานนั้นจริงๆ

ถ้าข้ามสายงานแล้วต้องเอาให้สุด

หลายคน คิดง่ายกว่านั้น ด้วยการไปสมัครงานในสิ่งที่ตัวเอง ‘อยากลองทำ’ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เจอได้โดยปกติมากๆ (จากที่ผมได้สัมภาษณ์คนมาเป็นร้อยคน) แต่บอกเลยว่า ถ้าคุณไม่เจ๋งจริง คุณจะได้รับความเจ็บปวดขั้นรุนแรงกลับมา และมีผลต่ออนาคตคุณอีกด้วยนะ เช่น เดิม ทำงานเป็นสาย specialist และ รู้สึกว่าอยากเปลี่ยนเป็นสาย manager ก็เลยสมัครงาน ที่เป็นสาย manager แล้วด้วยความที่ตัวเองเป็น specialist ทำให้หลอกคนที่สัมภาษณ์ได้ เพราะมีความรู้ ทำให้กรรมการก็หลงทางแล้วเชื่อว่า คนนี้คือคนที่เก่ง สามารถร่วมงานกันได้ แต่เมื่อเข้ามาร่วมงานกันจริงกลับพบว่า เค้าเป็น manager ที่แย่มากๆ ไม่สามารถควบคุมงาน ไม่สามารถบริหารงานให้เป็นไปได้อย่าง timeline/plan/resource เลยสักอย่าง ซ้ำยังทำให้คนที่คุยงานด้วยปวดหัวอีก สุดท้าย ก็จะไม่ผ่าน probation อนาคตวูบเลย และเสียประวัติการทำงานอีก รวมทั้งไม่รู้ว่าจะเอาอะไรกินในช่วงนั้นอีก กับอีกคนนึง ก็คือ ขอลาออกเอง เพราะทำแล้ว รู้สึกว่าไม่ไหว ส่วนเนื้องานที่ออกมา ก็พบว่า ไม่ค่อยได้อะไรเท่าไร ไม่ต่างจากตอนที่ไม่มี manager เท่าไรเลย เป็นต้น

อีกสาย ก็ไม่ต่างกัน คือสายที่ manager ข้ามมาเป็น specialist แบบนี้ ถ้าหลุดจากตอนสัมภาษณ์มาได้ จะเจอเหตุการณ์ที่ทำงานเชิงลึกไม่ได้ ตอบปัญหาที่ตัวเองมีหน้าที่ตอบไม่ได้ เช่น ตัวเอง ดูแล module นี่ แต่พอถามลงไปว่า module นี้ทำงานอย่างไรแน่ มันเกิดเหตุการณ์นี้ที่จังหวะไหน ก็ได้คำตอบว่า เดี๋ยวขอไปดูก่อน แบบนี้ อนาคตไม่ดีแล้ว เพราะมันสื่อได้ชัดว่า ไม่ได้เป็น specialist ตัวจริงนั่นเอง

เรื่องที่เล่าไปนี่คือเหตุการณ์จริงที่ผมเคยเห็นมานะครับ ไม่ใช่เรื่องที่สมมุติขึ้นมาเลย ดังนั้น มันมีอยู่จริง

สุดท้ายก็เป็นแกะ

บริษัทไหนมีคนพวกนี้ น่าสงสารบริษัทครับ พวกแกะ คือพวกที่บางครั้งทำตัวเองเป็น specialist แนะนำให้คนนู้นทำอย่างนี้ คนนี้ทำอย่างนั้น แบบนั้น ต้องทำอย่างนี่ แบบนี้เสนอว่าทำแบบนี้ดีกว่า แต่พอถึงเวลาที่ต้องลงมือทำ ทำไม่ได้ครับ ทำไม่ได้อย่างที่เคยพูดเอาไว้ แล้วก็จะกลับมาพร้อมกับเหตุผลอีกล้านแปดพันข้อ ว่าทำไมถึงทำไม่ได้ โดยเหตุผลทุกอัน คืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่เพราะความผิดพลาดของตัวเอง หรือบางที ก็มีตีมึนไปเฉยๆเลย คือทำไม่ได้ ก็คือทำไม่ได้ จบ! หรืออีกจำพวก คือพวกแสร้งเป็น manager คนจำพวกนี้จะอยู่ใน level manager เป็นทุนเดิม ซึ่งเค้ามีสิทธ์กำหนด timeline/plan/resource ของ project ต่างๆ ตอนที่วาดฝัน ก็ใส่เอาไว้สวยหรูเลย ว่าต้องใช้เท่านี้คน ทำนานเท่านี้ แล้วจะออกมาอย่างที่อยากได้เลย พอทำๆไป ก็จะมีมุขใหม่มาตีรวน กวน project ให้ยืดออกไปเรื่อยๆ บ้าง หรือว่า ก็ส่งไม่ได้ตาม commit แบบหน้าตาเฉยๆ แล้วก็ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วยังไม่แก้ไข โดยบอกว่ายุ่งเพราะไปทำ project อื่นอยู่ อ้าว อย่างนี้ก็ได้เหรอ!

พวกนี้ผมเรียกว่าเป็นแกะครับ คือ พอถึงจังหวะที่ต้องรับผิดชอบอะไร ก็ทำหน้าตายแบบแกะ ที่ไม่มีอารมณ์อะไร ก็แล้วร้อง แบะะะะะะะ จบ

สรุป

  • ค้นตัวเองให้เจอว่าอยากเป็น manager หรือ specialist โดยแนะนำให้ปรึกษากับหัวหน้า เพื่อจะขอลองเพิ่มงานให้ตัวเองดู คือ คนที่ทดลองเป็น manager ก็ขอ project เล็กๆมาคุม คนที่ทดลองเป็น specialist ก็ลองทำงานอย่างที่ลูกทีมทำทั้งหมด (ตั้งแต่ต้น) เราก็จะรู้เอง ว่าชอบหรือเปล่า
  • อย่าย้ายงานข้ามสาย เพื่อไปทำงานที่อยากทำถ้าไม่มั่นใจจริงๆ เพราะถ้าทำไม่ได้ จะเสียประวัติ อนาคต สุขภาพจิต และเวลาในชีวิต ให้ทดสอบข้อบนให้มั่นใจก่อน
  • คนเป็น manager ต้องรอบรู้กว้าง เช่น eCommerce คนที่เป็น manager ก็จะต้องมีความรอบรู้ ไล่ตั้งแต่ Infrastructure, Development, Warehouse Operation, Payment gateway, UX/UI, Accounting, Financial control, Legal, Logistics
  • คนเป็น specialist ต้องรู้ลึก เช่น ทำไมถึงเลือกใช้ภาษานี้ , ทำไมถึงต้องวาง software layer แบบนี้, ทำไมถึงเลือกใช้ component ตัวนี้, ทำไมถึงต้องเขียนโค้ดตาม standard นี้, การต่อยอดในอนาคตจะเป็นอย่างไร, การตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจยากมั้ย, database อะไร, มีการตอบสนองภายในเวลากี่ milli second
  • ตอนนี้ 2560 คนไทยให้ความสำคัญสาย manager มากกว่า specialist เงินเดือน ตำแหน่ง ความก้าวหน้า ดีกว่า แต่ถ้ามองภาพ global งานสาย IT นั้น manager กับ specialist มีผลตอบแทน และความยอมรับในระดับเดียวกันเลย
  • สั่งงาน computer เราเรียนรู้ภาษา ที่ใช้สั่งมันได้ และทุกงาน ให้ผลเหมือนอย่างที่เราสั่ง แต่กับคน เราจะใช้เทคนิคแบบเดียวในการสั่งทุกคนไม่ได้ และผลลัพท์ที่ได้จากคนก็มีทั้่งดีกว่า และ ต่ำกว่าที่เราคาดหวังเอาไว้ด้วย

2 thoughts on “แด่ programmer ผู้สับสนในชีวิต

  1. รบกวนขอคำแนะนำครับ ตอนนี้อายุ 40 (ปัจจุบันทำหน้าที่ support ระบบ ERP ห่างหายจากเขียนโปรแกรมปีกว่าๆ) วันนี้ได้ไปสัมภาษณ์งาน บริษัทที่ทำธุรกิจ Healt Care แห่งหนึ่งในกรุงเทพ ตำแหน่ง SA ต้องไปคุมน้องๆ Programmer และต้อง plan project/เก็บ requirement/analyst/design/ต้องคุยกับ user & รายงานผู้บริหาร จากการประเมินตัวผมเองความสามารถยังไม่ถึงที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ เนื่องจากปัญหา
    1. Application ที่เกี่ยวกับ Webbase ไม่เคยได้ทำเลย ก็จะไม่สามารถประเมิน time line ได้และให้คำแนะนำน้องๆไม่ได้เนื่องจากไม่มี skill ด้านนี้
    2. Skill ด้านการเข้าใจ Business & การบริหาร Project & การสื่อสารให้คนเข้าใจได้ ค่อยข้างไปทางน้อยมาก

    เลยได้คำตอบกับตัวเองว่าอย่างไรก็คงไม่พ้นสายบริหาร เลยมีคำถามว่า
    – เรียนต่อโท MBA จะดีไหมครับ จะได้มา solve ปัญหาข้อ 2 ได้ (หรือว่าควรจะฝึกทักษะด้านใดเพิ่มขึ้นอีก)
    – ส่วนปัญหาข้อ 1 ก็เรียนรู้ ฝึกเขียน ได้เนื่องจากข้อมูลใน internet มีมากมายให้เรียนรู้ได้ เลยอยากขอคำแนะนำว่า ณ ตอนนี้ควรศึกษาภาษาใดเป็นหลัก และเรื่อง technology ต่างๆ ที่ควรจะเรียนรู้ครับ
    – ภาษาอังกฤษไปหาคอร์สเรียนและฝึกเองเพื่อให้สามารถใช้ในการสื่อสารได้และจะได้อ่าน content ต่างๆที่เป็นภาษาอังกฤษได้ (เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ข้อมูลที่ต้องเรียนรู้จะอยู่ในรูปแบบของภาษาอังกฤษครับ) – ข้อนี้ได้มาจาก “บรุษไปรษณีย์ที่ยิ่งใหญ่” ว่าควรจะต้องศึกษาเพื่อพัฒนาตน

    ปล. comment นี้ผมใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงในการที่จะพิมพ์ออกมาเพื่อให้สื่อสารให้คุณบีเข้าใจได้มากที่สุด T__T

    ขอบคุณครับ

    1. ในเมื่อคุณรู้ปัญหาของคุณแล้ว ดังนั้น ขั้นต่อไป คือ แก้ปัญหา
      ปัญหาเรื่องไม่มีความรู้ด้าน technical ของเนื้องานที่เราทำ ไม่ยากครับ ศึกษาและ ศึกษา ปัจจุบัน มีรูปแบบการศึกษาเยอะกว่าแต่ก่อนมาก ไม่ว่าจะเป็น ebook , udemy หรือ เว็บ online course ต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ยิ่งเรื่องเว็บหาได้ง่ายมากๆเลยครับ แต่ไม่ต้องลงลึกมาก พยายามเก็บภาพกว้างให้ได้ทั้งหมดก่อน แล้วจะเจาะลงลึกเรื่องที่เราสนใจเอาภายหลัง แค่นี้เราก็คุยกับทีม dev รู้เรื่องแล้ว

      ต่อมา เรื่อง project management ไม่มี, business insight ก็ไม่เข้าใจ อันนี้น่าจะลำบากเลย เพราะว่าเป็น skill ทำมาหากินของคนสายนี้เลย จริงๆก็มี course เรียนเหมือนกัน แต่มันไม่เหมือนกันกับที่เราได้ทำจริงครับ เมื่อก่อนผม ติดสอบห้อยตาม และช่วยหัวหน้าทำงานเยอะมาก จนในที่สุด วันนึงที่ผมนั่งตำแหน่งเดียวกับที่เค้าเคยนั่ง ผมก็ทำได้หมดทุกอย่างเลย เหมือนอย่างที่เค้าเคยทำ และหนำซ้ำ เวลาไปทำซ้ำเรื่องเดิมในที่ใหม่ ก็สามารถทำได้ไม่ติดขัดอะไรเลยด้วยเช่นกัน มันคือเรื่องประสบการณ์ มุมมอง สองอย่างนี้จะช่วยได้มาก

      ส่วนเรื่องการสื่อสาร อันนี้ต้องฝึกครับ ฝึกได้ หลักๆคือมีสติ คิดก่อนค่อยพูด จะช่วยได้เยอะ แล้วก็หาอ่านหนังสือว่า พูดแบบไหนถึงจะดี

      เรื่องการไปลงเรียน อันนี้ผมคงแนะนำไม่ได้ เพราะว่าผมก็ไม่เคยเรียน MBA เลยไม่รู้ว่าดีไม่ดีอย่างไร จะได้อะไรออกมาบ้าง
      ส่วนที่ถามว่า ศึกษาภาษาอะไร จริงๆ ถ้าอายุขนาดนี้เรื่องภาษาไม่ใช่ประเด็นนะครับ หลักๆ เป็นเรื่อง logic มากกว่า เพราะเราไม่ได้ลงไปเขียนโค้ดแล้ว ดังนั้น ถึงเวลาหน้างานเค้าใช้ภาษาอะไร เราค่อยไปศึกษา nature ,environment ของภาษานั้นๆ เท่านั้นก็พอแล้วครับ อันนี้ให้ปรับไปตามหน้างาน
      ภาษาอังกฤษ ก็ต้องฝึกครับ มันเป็น skill แค่เรื่องอ่านอย่างเดียว ไม่พอครับ

      ตอนนี้คุณก็รู้แนวทางแก้ปัญหาแล้ว ต่อไปก็คือ ลงมือทำครับ

Leave a Reply to อมรเดช คีรีพัฒนานนท์ Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *