การเป็น PO ที่ดี
ผมจะมาเล่าให้ฟัง จากประสบการณ์จริง ที่ทำงานเป็น PO เต็มตัว 4 ปีกว่าได้แล้ว และเป็น Certified Scrum Master ทำให้เห็นมุมมองอะไรเยอะ มากพอที่จะเล่าได้ว่าทำอย่างไรถึงจะเป็น PO ที่ดี
ออกตัวก่อน ว่า ตอนนี้ผมยังไม่ได้เป็น certified Product Owner แต่ว่า ตอนนี้ผมเป็น Certified Scrum master อยู่ แต่งานก็วนอยู่ในสาย product owner เป็นหลัก มากกว่า scrum master แม้ว่าจะมีเฉี่ยวๆ ที่ต้องไปทำ scrum master บ้างนิดหน่อยก็ตาม
ผมจะเขียนเพื่อให้เข้าใจถึงการเป็น Product Owner (จะเรียกว่า PO) ที่ดี เป็นอย่างไร ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง และต้องทำตัวอย่างไร
ความรู้ในด้าน software development methodology
ผมไม่ได้บอกว่าเป็นความรู้ Agile หรือ scrum เพราะว่าแต่ละบริษัท ก็มีบริบทที่แตกต่างกัน แต่ที่ผมจะสื่อก็คือ เราต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึงแนวทางที่เรากำลังทำงานอยู่ในการพัฒนา software ว่ามีแนวทางอย่างไร คือถ้าจะเอาที่ได้รับความนิยมในตอนนี้ ก็คือ Agile + Scrum เราต้องเข้าใจว่า มันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร รวมถึงแบบอื่น (ที่เป็นพื้นฐานทำกันอย่างแพร่หลายในอดีตก็คือ water fall) เนื่องจาก บางครั้ง agile + scrum อาจจะไม่เหมาะกับเนื้องานที่ทำก็ได้ เราต้องมองให้ออก และประยุกต์ใช้ให้เป็น และถูกต้อง ตามแนวคิดพื้นฐานของแนวทางนั้นได้อย่างเหมาะสม กับบริษัท และ สภาพแวดล้อม
เรียนรู้อย่างรวดเร็ว
เป็นอีกหนึ่ง skill ที่ PO ควรมี และ จะทำให้โตเร็วมากๆ หากเราเป็นคนที่เรียนรู้เร็ว เวลาเราไปคุยงานกับใคร ก็จะเข้าใจได้ในเวลาอันสั้น เค้าจะมองว่าเรามีความสามารถ เพราะคุยกับเค้ารู้เรื่องในเวลาไม่นาน ผมเคยต้องเรียนรู้ PO ของ Big Data ecosystem ในเวลา 1 เดือน ตอนนั้นเรียกได้ว่าเหมือนนักศึกษาเลย คือ เอาเวลาทุกช่วงที่ว่างไปศึกษากับเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จนสามารถสร้าง big data ecosystem ให้กับเครือ central ได้สำเร็จในระยะเวลา 4 เดือนเท่านั้น (เริ่มจาก 0) ซึ่งผมต้องเรียนรู้อะไรเยอะมากๆ ในเวลาอันสั้น จนสุดท้ายก็ไปคุยรู้เรื่องกับทั้ง business และ technical
ความรู้ฝั่ง Technical
จริงๆเหมือนว่า PO เป็นฝั่ง Business แต่จากที่ผมสังเกตุ ถ้าเป็น PO ที่โตมาจาก Technical โดยถอดความเป็น Technical ออกไปแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็น PO ที่ไปได้ดีหลายต่อหลายคนเลย เพราะความรู้ทางฝั่ง Business เราสามารถเรียนรู้ได้ไม่ยากเท่า ความรู้ด้าน technical ที่มันกว้างและ มีความซับซ้อนในหลายมิติมาก ดังนั้นคนที่มีความรู้ทางด้าน technical มาก่อน หรือว่าเป็น programmer มาก่อน จะค่อนข้างได้เปรียบ เรียกได้ว่าเป็นแต้มต่อก็ว่าได้
การเจรจาสื่อสาร
เพราะชีวิตของ PO หน้าที่หลักคือการสื่อสาร ดังนั้น การเจรจาจะมีบทสำคัญในการทำให้งานเดินหน้าหรือล้มเหลวก็ได้เหมือนกัน อย่างมีงานนึง ถ้าเราต้อง deliver ให้ได้ตามกำหนด แต่ว่าเราพูดจาให้ทีมนึงไปมีปัญหากับอีกทีมนึง แบบนี้สุดท้าย project ล้ม PO เองก็จะซวยไปด้วยเป็นต้น หรือว่าการเจรจาต่อรอง feature กับทาง stake holder (เพราะ stake holder มีความต้องการที่ไม่รู้จบ) เราจะต้องพูดอย่างไรให้เค้าเข้าใจสถานการณ์ หรือ หาทางออกกันได้คนละครึ่งๆอะไรแบบนี้ ดังนั้น เราต้องเรียนรู้ว่า พูดอย่างไร ถึงจะ win win ทุกฝ่าย แม้ว่างานจะยังไม่ deliver แต่ถ้าเจรจาได้สำเร็จก็เหมือนสำเร็จไปเกินครึ่งแล้ว
พิมพ์เร็ว
เป็น skill ที่ตลก และดูพื้นฐานมาก แต่หารู้ไม่ว่าการพิมพ์เร็วช่วยให้งาน PO เดินไปได้เร็วกว่าปกติมาก โดยเฉพาะ บริษัท IT เพราะว่าจะมีการสื่อสารด้วย text ค่อนข้างเยอะกว่าบริษัท non tech ซึ่งการพิมพ์เร็วแล้ว รวมกับการสื่อสารที่ได้ประสิทธิภาพ จะทำให้เราทำงานได้แบบคู่ขนาน หลายๆงานไปพร้อมๆกัน จากหลายๆทีมงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่ต้องเขียน card เพื่อบอกเล่าการทำงานของ ระบบจำนวนเยอะๆ นี่ skill น้จะช่วยได้เยอะมาก
คิดเร็ว
ความเร็วแค่ไหนจะพอ ก็คือ ต้องเร็วไม่น้อยกว่าคนที่คิดได้เร็วที่สุดของคนที่เราทำงานด้วย ดังนั้น ใครที่เก่ง และคิดเร็วที่สุดเท่าเราเห็น เราก็ต้องคิดให้ได้เร็วเท่าเค้า หรือมากกว่าเค้า ที่ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะเราจะต้องคิดตามให้ทัน เนื่องจากคนเป็น PO ข้อมูลหลายอย่างจะผ่านเข้ามาที่ PO เพื่อประมวลผล และส่งออกไปเป็นอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการคิดเพื่อตัดสินใจทำ หรือไม่ทำงาน หรือว่าเป็นการคิดเพื่อบอกเค้าว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด
มีความรู้ทางด้าน business
เพราะ PO ไม่ใช่คนที่เป็น technical จ๋าๆ ไม่ใช่ programmer และมีหน้าที่ในการสร้าง ROI ให้ได้มากที่สุด จาก product ที่เรากำลังทำอยู่ ดังนั้น ความรู้ทางด้าน Business เราต้องมี เพื่อให้เข้าใจการทำงานในด้าน Business และแนวทางการทำธุรกิจ หรือเพื่อให้เกิด income ,revenue, usage จากระบบให้ได้มากที่สุด
กล้าตัดสินใจ
ความเป็น PO จะมีความน่าหนักใจเรื่องหนึ่ง ก็คือ ต้องแบกความคาดหวังจากทุกคนเอาไว้ และหลายคน จะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ความคาดหวังของทั้งสองฝั่งไม่ตรงกัน ที่แย่สุด คือตรงกันข้าม PO ผู้ซึ่งอยู่ตรงการก็ต้องตัดสินใจ และที่สำคัญต้องกล้ารับผิดชอบต่อการตัดสินใจด้วย
แพะในตำนาน
อันนี้ผมตั้งขึ้นมาเอง เพราะชีวิตจริง PO มันตกเป็นแพะรับบาปประจำ โดยเฉพาะทีมงานที่ไม่กล้าออกหน้ารับผิด แบบนี้ PO ก็ต้องตกเป็นแพะอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ด้วย จำได้ว่าตอนแรกๆ นี่เซ็งมากๆ เพราะตัวเองสื่อสารอย่างดี ชัดเจน เขียนลายลักษณ์อักษรก็แล้ว แต่ก็ยังได้งานที่ผิดออกมาได้อีก ก็ไม่รู้จะว่ายังไง เวลาไปเจอ business ก็ต้องกลายเป็นแพะรับผิด แล้วก็มาคุยกับทีมเพื่อให้ปรับปรุงกันต่อไป
inspect & adapt
อันนี้ไม่ได้เหมาะแต่คนที่ทำ agile , scrum เท่านั้น แต่ว่า water fall หรืออื่นๆก็ใช้ได้เหมือนกัน คือเวลาที่เราทำงาน เราต้องเรียนรู้ ว่า สิ่งที่ทำไปมันดีไม่ดียังไง แล้วก็ปรับปรุงให้มันดีขึ้น ถ้าเราทำแบบเดิม โดยคิดว่า อะไรมันจะดีขึ้น ก็ไม่ต่างอะไรจากคนบ้าครับ เราต้องเรียนรู้ ปรับปรุง แต่ถ้าการปรับปรุงนั้นยังให้ผลที่ไม่ดี ก็ปรับไปอีก ปรับไปเรื่อยๆ จนมันดีขึ้น แล้วก็ยึดแบบนั้นเอาไว้ แล้วไปปรับอย่างอื่นต่อ วนไปเรื่อยๆ
เอาเท่านี้ก่อน ก็น่าจะพอมั้ง เพราะว่าถ้าทำได้หมดนี้ก็เป็น PO ที่เจ๋งๆได้คนนึงแล้วล่ะ ถ้าถามว่ามีมากกว่านี้มั้ย มีครับ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเจ๋งขึ้นไปอีก แต่แค่นี้ผมก็ว่าต้องฝึกกันเยอะแล้วล่ะ แต่ถ้าสนใจก็ comment เอาไว้ จะได้มาต่อภาคสองกันต่อไป