ชีวิต product owner

ชีวิต PO

จะมาเล่าเรื่องชีวิตของ Product Owner จากประสบการณ์ของตัวเองในหลายปีที่ผ่านมา ว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องเจอกับอะไรบ้าง ชีวิตดีจริงมั้ย งานต้องทำอะไร

การพูดคุยถือเป็นเรื่องหัวใจของการทำงาน

จริงๆแล้วหัวใจหลักๆของการเป็น Product Owner (เรียกสั้นๆว่า PO) ก็คือการพูดคุย เพราะหน้าที่หลักคือการไปคุยกับ Business เพื่อเก็บความต้องการที่แท้จริง สอบถามรายละเอียดให้ครบถ้วน เนื่องจากเราจำเป็นต้องเข้าใจความคิดฝั่ง Business ให้มากที่สุด เราถึงจะสามารถนำมาถ่ายทอดให้กับคนทำงานหรือ developers ได้อย่างถูกต้อง ตรงนี้เหมือนจะง่ายแต่เอาจริงๆก็เป็นเรื่องยากเพราะว่าเราต้องรู้ลึกรู้ละเอียดจริง ผมจะยกตัวอย่างอันนึง “ขอให้ไปทำหน้าแบบฟอร์มสมัครสมาชิกเพื่อเข้าร่วมโครงการพิเศษขึ้นมา 1 อัน” นี่คือสิ่งที่ business ต้องการ เราในฐานะ PO ก็ถามต่อเลย

  • ช่องที่จะให้ลูกค้ากรอกจะมีอะไรบ้าง
  • หน้าตา design อยากให้เป็นประมาณไหน
  • กรอกแล้วจะเจอหน้าจบเป็นอย่างไร
  • ขึ้นงานเมื่อไรถึงเมื่อไร

ก็ดูจะเป็นงานง่ายๆใช่ไหมครับ แต่รู้ไหมครับว่าในชีวิตจริงเวลาที่เราลงหน้างานจริง เราจะต้องไปบอก designer กับ programmer ได้ว่า field แต่ละอันกรอกอะไรได้บ้าง ถ้าให้กรอกตัวเลขแล้วลูกค้ากรอกตัวหนังสือจะต้องมี alert ไหมหรือว่า field ไหนที่เป็นที่จำเป็น , field ไหนสามารถเว้นว่างได้, ถ้าลูกค้ากรอกไม่ครบแล้วจะเจอ Error อะไร, หน้าตาดีไซน์จะใช้รูปจากที่ไหน, จะต้องขึ้นตอนกี่โมง เอาลงตอนกี่โมง , เอาลงนี่คือให้หายไปเลย หรือว่าเปลี่ยนหน้า design และอีกมากมายหลายคำถามที่ PO ต้องตอบ!

ดังนั้นจะเห็นได้ว่างานพูดคุยที่ดูเหมือนง่ายๆ แต่จริงๆแล้วคุณจะต้องมีความละเอียดในการพูดคุยมากๆ ถึงเวลาการทำงานจริงบางครั้ง Business เขาก็ตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ทุกข้อหรอก แต่ด้วยความเป็น PO ของคุณ จำเป็นจะต้องอธิบายให้คนทำงานเข้าใจได้อย่างที่มันควรจะเป็น

เข้าใจ technical จะได้เปรียบ แต่หน้าที่หลักคือเข้าใจ business

ต้องบอกว่าจริงๆแล้วสิ่งที่ PO จะได้ใช้เป็นหลักก็คือความเข้าใจในฝั่ง Business มากกว่า เพราะต้องใช้หลักความคิดเหมือนเรากำลังทำ Business ทำอย่างไรให้ได้กำไรมากที่สุด หรือทำอย่างไรให้ project ขึ้นเร็วมากที่สุด ให้ได้ทดลองใช้แล้วเก็บ feedback มาพัฒนาต่อ แต่ว่าสกิลฝั่ง Technical เป็นสิ่งที่จะทำให้ PO คนนั้นได้เปรียบอย่างมากเพราะว่าเขาสามารถตอบคำถามของฝั่ง Business ได้ทันที ว่าสิ่งนี้สามารถทำได้หรือทำไม่ได้ (แต่อันนี้อย่าใช้บ่อย หากคุณไม่มั่นใจว่าเก่งกว่าทีมคุณจริงๆ เพราะคุณคิดว่าไม่ได้ แต่ทีมทำได้แปลว่า business เสียผลประโยชน์ทันที และมูลค่าความเป็น PO คุณจะลดลงทันที) และในขณะเดียวกันเขาก็สามารถคิดได้เกือบจะแทน programmer ว่าระบบนี้ต้องทำงานอย่างไรในตอนที่เขาเขียนเขียน User Story จะช่วยให้แบ่งความละเอียดของ card ได้อย่างเหมาะสม developer ก็สามารถทำความเข้าใจและส่งมอบงานได้ตรงตามที่ PO ต้องการจริงๆ

ยิ่งเข้าใจหลายท่ายิ่งได้เปรียบ

สิ่งนี้เรียกได้ว่าเป็น Option เสริมสำหรับ PO ก็แล้วกันเพราะว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่การที่ PO รู้เยอะรู้กว้าง รู้หลายเรื่อง จะทำให้ได้เปรียบกว่าคนอื่นมากๆ อย่างของผมเองที่เคยเป็น full stack developer มาก่อน จึงทำให้เข้าใจว่าการจะสร้างอะไรสักอย่างหนึ่งมันจะต้องเริ่มต้นที่ตรงไหน องค์ประกอบไหนของใครบ้าง ใครเกี่ยวข้องกับงานนี้บ้าง ระบบจะเป็นยังไง ทุกสิ่งอย่างมันจะอยู่ในหัวหมดทำให้เวลาที่เรียกประชุมทีมงานเราจะรู้ทันที ว่าต้องการใครมาเพื่อทำอะไรบ้าง แล้วทั้งหมดจะเชื่อมโยงกันยังไง และยังช่วยในบางสถานการณ์ด้วยเช่นหลายครั้ง Business อยากได้บางอย่างที่มันดูยากมากและ developer ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะต้องทำยังไงผมก็อธิบายไปว่าเราก็ลองทำแบบนี้ดูสิเป็น developer ก็จะสามารถได้ไอเดียเพื่อไปคิดต่อยอดได้ นี่แหล่ะ คือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์โดยแท้จริงจาก PO

เน้นการมองภาพกว้าง มากกว่าเชิงลึก

สิ่งนี้จะแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างคนที่เป็น developer กับคนที่เป็น PO เพราะว่า PO จะพยายามมองภาพกว้างว่าจะทำยังไงให้งานเสร็จ จะส่งงานยังไงให้ทีมนี้ทำงานต่อเนื่องกับอีกทีมหนึ่งได้ พยายามเน้นให้ภาพรวมของงานสมบูรณ์มากกว่าที่จะทำให้แต่ละฟังก์ชั่นสมบูรณ์ ลองคิดดูง่ายๆถ้าเราจะต้องพัฒนาระบบขายสินค้า ทีมก็ไปมุ่งทำระบบสมัครสมาชิกทำงานได้สมบูรณ์ Perfect เลย สามารถสมัคร login เข้าระบบ แก้ไขรหัสผ่าน ตั้งค่า permission อัพรูปโปรไฟล์ ใส่ข้อมูลส่วนตัว ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ระบบการซื้อขายยังทำไม่ได้ แบบนี้ก็ถือว่า Project Fail! ทั้งๆที่ระบบสมาชิกสมบูรณ์มากแล้วแท้ๆ

จากโจทย์เดิมเลยถ้าเราบอกว่าต้องการพัฒนาระบบขายสินค้าให้ทำงานได้ PO จะต้องพยายามให้ทีมเน้นที่ฟังก์ชันการขายสินค้าให้ได้ก่อน ส่วนระบบ login จะได้หรือไม่ก็ไม่สำคัญในตอนแรก เพราะว่าถ้าระบบขายสินค้าทำงานได้แล้วการจะปรับปรุงเพิ่มเติมระบบล็อกอินต่อมันเป็นเรื่องที่ทำได้ทีหลังดังนั้น PO ต้องมองภาพกว้างให้ออกว่างานนี้ต้องการอะไร และต้องเรียงความสำคัญให้เป็น

งานยุ่งที่แท้ทรู

ชีวิตของ PO จะเป็นชีวิตการทำงานที่ยุ่งมากตลอดเวลาเพราะว่า PO ไม่ได้มีหน้าที่แค่คุย Business แล้วมาถ่ายทอดให้กับทีมงานเท่านั้น จริงๆแล้วหลังจากการคุย PO จะต้องทำหน้าที่สรุปความเข้าใจทั้งหมดว่าสิ่งที่ได้คุยกับ Business มาเรามีความเข้าใจแบบนี้เพื่อคอนเฟิร์มกับ Business 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย อาจจะต้องมีการทำ diagram เพิ่มเติมหรือทำเอกสารประกอบเพื่อให้ Business เห็นภาพซึ่งตรงนี้ PO ต้องทำเอง
จากนั้นเมื่อได้รับการคอนเฟิร์มแล้วเราก็จะต้องไปทำงานสิ่งที่เรียกว่าการเขียน User Story สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใช้เวลามากพอสมควร เพราะว่าต้องถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือให้ทีมงานอ่านแล้วเข้าใจได้ โดยปกติแล้ว PO 1 คนจะต้องทำงานกับทีมงานประมาณ 7 +- 2 คนดังนั้นเขาจึงมีหน้าที่ควบคุมให้ทั้ง 7 คนสามารถทำงานได้ในเวลาเดียวกัน และทำงานอย่างถูกต้องตามที่ PO ต้องการซึ่งเมื่อเราเขียน User Story เสร็จเราก็จะต้องคุยกับทีมที่จะทำงานให้เราเพื่อให้เข้าใจตรงกับที่เราเข้าใจ และตรงกับที่ business ต้องการนอกเหนือจากนั้นงานของ PO ก็ยังต้องจัดเรียงความสำคัญของ User story ตลอดเวลา เพราะว่าคนที่เคยทำงานจะนึกออกว่าความต้องการของ Business มาตลอดเวลาต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด PO จะต้องจัดเรียงความสำคัญให้ได้เพราะด้วยทีมงาน เวลา และ ทรัพยากร ที่มีจำกัด เราจึงไม่สามารถส่งงานทั้งหมดที่ Business ต้องการไปกองอยู่ที่ทีมงานได้ ถ้า PO คนไหนทำอย่างนั้น งานที่ได้ออกมาก็จะเป็นงานที่ทีมงานรู้สึกว่าทำง่ายที่สุดแต่มันอาจจะมีคุณค่าน้อยที่สุดก็เป็นได้ (เชื่อผม ผมผ่านมาก่อน)

สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้มากกว่าเดิม

PO จะมีหน้าที่ สร้างโปรเจคยิ่งใหญ่กว่าเดิมไปเรื่อยๆเพราะอย่างที่บอกว่า PO เป็นคนที่มองภาพรวมดังนั้นเขาจะเป็นคนที่สามารถสร้างงานที่ใหญ่กว่าตัวเองได้ ด้วยทีมงาน ทรัพยากร เวลา ที่มีอยู่จำกัด อย่างที่ผมเคยทำผมเคยเป็น PO คนเดียวที่คุม developer ประมาณ 30 คน (4 team) ในช่วงเวลาเดียวกันจำได้ว่าตอนนั้นเป็นช่วงที่สาหัสมากเพราะว่าปกติ PO จะดำเนินการกับทีมงานประมาณแค่ 7 คน และคุม 1 ทีมเท่านั้น แต่ตอนนั้น Project นี้ไม่มีคนเข้ามาควบคุมอย่างจริงจังนอกจากผมเพียงแค่คนเดียว ยังจำได้ว่าต้องเขียนการ์ดใหม่สัปดาห์นึงประมาณ 100 ใบและมีการ์ดที่อยู่ใน Backlog ร่วมๆ 500 ใบ ที่ต้องจัดเรียง priority ตลอดเวลา แต่มันก็เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ได้เรียนรู้และเติบโตในสายงาน PO อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ทำผมกล้าพูดได้ว่าเพียงแค่ 1 ปีของการเป็น PO ในช่วงนั้นได้ประสบการณ์มากกว่าคนที่ทำงานมานาน 5 ปีก็เป็นได้

การบริหารจัดการตัวเองและงานเป็นเรื่องที่สำคัญ

มันคงจะเป็นเรื่องตลกมากที่คุณต้องบริหารจัดการ Project มูลค่า 10 ล้าน 100 ล้าน แต่ว่ายังบริหารจัดการตัวเองไม่ได้ ไม่รู้ตอนไหนต้องกินข้าว ไม่รู้ตอนไหนต้องนอน ไม่รู้ว่าตอนไหนต้องทำงาน ทุกสิ่งทุกอย่างมันปนกันไปหมด นอนหลับก็หลับไม่สนิท นอนตาค้างอยากตื่นขึ้นมาทำงาน มาทำงานก็สมองไม่ใส เพราะนอนไม่หลับ สุขภาพร่างกายก็ทรุดโทรม แบบนี้ถือว่าไม่ผ่านการพื้นฐานของการเป็น PO

เรียงความสำคัญให้เป็น

เคยสัมภาษณ์หลายคนที่มาสมัครเป็น PO ด้วยคำถามง่ายๆว่า เรามีหลักการในการเรียงความสำคัญของงานแต่ละงานอย่างไร รู้ได้อย่างไรเมื่อเวลาไหนต้องทำงานไหน หรืองานไหนต้องทำก่อน ถ้ากำลังทำงานกันอยู่ แล้วมีงานด่วนกว่าเข้ามา เราจะจัดการอย่างไร จุดนี้เป็นจุดที่หลายคนตอบผิด หรือเป็นจุดที่บ่งบอกความไม่เข้าใจในความเป็น PO อย่างดี เพราะส่วนใหญ่จะตอบเหมือนกัน คือ เรียงตาม deadline, เรียงตามความด่วน อะไรประมาณนี้ แต่ว่าในชีวิตจริงมันจะมีแต่ งานด่วน งานด่วนกว่า งานด่วนที่สุด เข้ามาตลอดเวลาดังนั้น PO ไม่สามารถใช้ความเร่งด่วนมาเป็นหลักเกณฑ์ในการจัดเรียงงานได้ เพราะสุดท้ายคุณจะไม่สามารถ deliver งานอะไรออกมาได้เลย สิ่งที่ถูกต้องและควรจะเป็นก็คือการพูดคุยกับ business อย่างเข้าใจ ค้นหาให้เจอว่างานไหนที่จะเป็นงานที่มีความสำคัญที่สุด ทำให้ได้ผลตอบแทนมากที่สุด กำไรมากที่สุด หรือสร้าง Impact ได้มากที่สุด ควบคู่กับความเร่งด่วน นั่นต่างหากที่จะเป็นหลักเกณฑ์ในการคิด แต่ชีวิตจริงก็จะมีอะไรมากกว่านี้เยอะถ้าได้ลองทำจริงแล้วจะเข้าใจ

อยากเป็น PO ทำอย่างไร

ไม่ยากครับโดยเฉพาะหากโตขึ้นมาจากสาย technical แล้วได้ฝึกการบริหาร Project มาก่อน พูดคุยกับคนได้ เมื่อก่อนผมก็เป็นคนที่ไม่ชอบพูดคุยกับใคร ชอบทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ที่อยู่หลังหน้าจอ คุยกับคอมแต่หลายปีที่ผ่านมาก็ได้ฝึกความเป็น Project Manager มาเรื่อยๆทำให้ได้คุยกับคนมาเรื่อยๆแล้วก็ค่อยๆพัฒนา skill ด้าน Business ในขณะที่ ยังไม่ได้ทิ้งฝั่ง technical ด้วย ในท้ายที่สุดก็เป็น PO ได้อย่างไม่ยากเพียงแค่ คุณต้องรับ Challenge เมื่อมีโอกาสเข้ามาเท่านั้นเอง

หากคุณเป็นคนที่กำลังทำงาน PO หรือว่ามีข้อสงสัยในงาน PO ก็มาคุยกันได้นะครับ

2 thoughts on “ชีวิต product owner

  1. Project manager เปลี่ยนมาทำ PO ต้องเพิ่ม skill อะไรบ้างครับ

    1. ความเป็น Ownership เพราะเราต้องสวมหมวก stake holder มากกว่าเมื่อก่อน มากๆ , Business insight เพราะเราต้องคิดแทน business / stakeholder ได้เลย, responsibility เพราะเราต้องรับผิดชอบมากกว่าเดิม ทำนองว่า เผาเลย เดี๋ยวรับผิดชอบเอง, ความอดทน เพราะเราจะตกเป็นแพะในตำนานมากขึ้น เนื่องจากเราต้อง keep relation ทั้ง stake holder และ team ดังนั้น เมื่อเกิดความผิดพลาด เราจะโทษใครไม่ได้เลย เพราะเราต้องทำงานกับทุกคนไปอีกนาน คร่าวๆประมาณนี้ก่อน ที่เหลือจะใช้ skill พื้นฐานของ project manager เป็นหลักครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *