อย่าเป็นคนมักง่าย โดยเฉพาะการตัดสินใจเรื่องสำคัญ

ผมได้เฝ้ามองปัจจัยอะไรที่ทำให้คนประสบความสำเร็จเขามีความสำเร็จที่มากขึ้น และมันก็เป็นปัจจัยเดียวกันที่ทำให้คนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังติดอยู่ที่เดิม

เรื่องหนึ่งที่ผมพบก็คือความรอบคอบในการตัดสินใจ เรื่องนี้ผมกล้าพูดได้ว่าจริงๆแล้ว มันก็เป็นเรื่องที่ไม่มีมาตรฐานหรือสูตรสำเร็จ ที่เราจะสามารถนำไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์ หรือทุกการตัดสินใจ

เพราะว่าแต่ละสถานการณ์ จะมีข้อจำกัด หรือถูกจำกัดด้วยความรู้ที่มี ณ เวลานั้น หรือข้อมูลที่มีเพียงจำกัด ในเวลานั้น แต่เราจำเป็นจะต้องตัดสินใจแล้ว ต่อมาเราพบว่า ถ้าเราเลือกตัดสินใจอีกแบบนึงน่าจะให้ผลที่ดีกว่า หรือที่เรามักพูดกันว่า “รู้งี้” ซึ่งเรื่องนี้เป็นสถานการณ์ปกติที่เกิดจากการตัดสินใจ

การตัดสินใจแบบมักง่ายคืออะไร?

คือการตัดสินใจที่จะทำให้เกิดผลกระทบตามมา แต่ไม่ถูกพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบ หรือโยนการตัดสินใจนั้นให้เป็นของคนอื่น (นี่คือแย่สุด) ทั้งที่ตัวเองเป็นผู้รับผิดชอบผลของการตัดสินใจนั้นโดยตรง(หรือโดยอ้อม) สิ่งนี้อาจจะเป็นเพราะอยากจะโยนภาระ อันเกิดจากผลลัพธ์ที่จะตามมาให้กับคนอื่นก็เป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ดีถ้าผู้ที่มีหน้าที่ต้องตัดสินใจกลับไม่ตัดสินใจ นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่าความมักง่ายนั่นเอง คือทำอย่างไรก็ได้ให้มันผ่านๆไป โดยที่ไม่สนใจสิ่งที่จะตามมา

การตัดสินใจแบบนี้หรือพฤติกรรมความคิดแบบนี้ ก็จะสะท้อนไปในการใช้ชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน เพราะแม้กระทั่งเรื่องที่เราต้องใช้ชีวิตปกติ เราก็จะต้องมีการตัดสินใจอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว เช่น เราจะเดินทางไปทำงานอย่างไร แค่ประเด็นนี้ง่ายๆแล้วเราก็ตอบตัวเองว่า “ก็เอาที่สุดก็ขึ้นแท็กซี่ไปทำงานสิ มีคนขับไม่ต้องเหนื่อยเดินทางมาก” แต่ค่าแท็กซี่ไปทำงานต่อเดือนอาจจะหมายถึง ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนที่ได้รับก็เป็นได้ หรือการเลือกกินอาหาร ก็เลือกง่ายๆว่ากินอะไรก็ได้ที่ตามใจปาก แบบนี้ไม่นานก็ต้องประสบกับปัญหาภาวะทุพโภชนาอย่างแน่นอน คือไม่อ้วนไปก็ขาดสารอาหารบางอย่าง แค่เรื่องกินอาหารก็ยังต้องคิดเลยนะ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องกินของแพง คือต้องของที่กินต้องดีและมีประโยชน์ ถ้าจะดีกว่านั้นก็คือคุ้มค่ากับจำนวนเงินที่ได้จ่ายไป แบบนี้คือการคิดเพื่อตัดสินใจในแบบที่ไม่มักง่าย

แล้วการตัดสินใจที่ดี ที่ไม่ใช่การตัดสินใจแบบมักง่าย ทำยังไง?

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ว่าไม่มีสูตรสำเร็จ แต่พอมีแนวทางกว้างๆอยู่ ดังนี้ครับ

  • ทางเลือกมีอะไรบ้าง : คิดถึงความเป็นไปได้ ที่เราต้องตัดสินใจก่อน ว่ามีกี่ทางเลือก แบบไหนยังไงบ้าง
  • ข้อมูล เป็นเรื่องสำคัญ : เราต้องมีข้อมูลมากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนเสมอ ในทุกเรื่อง และในทุกแนวทางการตัดสินใจ หลักๆ ก็คือ ข้อดี ข้อเสีย ในแต่ละทางเลือกที่เป็นไปได้ เราก็ต้องหาข้อมูลประกอบให้มากที่สุด
  • คิดถึงผลลัพท์ : เมื่อเรามีทางเลือก และ มีข้อมูลประกอบแล้ว เราน่าจะพอคาดถึงผลลัพท์ได้ชัดเจนมากขึ้นแล้ว หลายครั้ง เมื่อผ่านสองกระบวนการขั้นต้น จะทำให้พบว่า เหลือทางเลือกเพียงอย่างเดียว ก็ต้องเลือกทางนั้นเลย
  • กล้าตัดสินใจ : อันนี้คือสำคัญที่สุดจากทั้งหมดเลย เพราะหลายคน ผ่านสามขั้นตอนมาแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังไม่กล้าตัดสินใจ และเก็บเรื่องราวทั้งหมดเอาไว้ในบันทึก หรือ ความทรงจำ และไม่นาน ก็ลืมมันไปในที่สุด ถ้าเราไม่กล้าตัดสินใจ สิ่งที่ดี (หรือเราเชื่อว่ามันดี) มันก็ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน
  • น้อมรับกับผลที่ตามมา : ต้องแยกเรื่องการตัดสินใจ และ ผลลัพท์ออกจากกันเสมอ เพราะเราตัดสินใจ ด้วยข้อมูล และ การคิดที่ดีที่สุด เท่าที่เราจะเป็นไปได้ในเวลานั้นแล้ว ดังนั้น ผลลัพท์จะออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องพร้อมรับ เพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน มันอาจจะมีปัจจัยที่เรามองไม่เห็นหลังจากที่เราตัดสินใจไปแล้วซึ่งกระทบต่อผลลัพท์ก็เป็นได้ ดังนั้น เราต้องพร้อมรับกับผลที่ตามมาเสมอ

ถ้าจะต้องตัดสินใจละเอียดแบบนี้กับทุกเรื่องแม้กระทั่งเรื่องจุกจิกเล็กน้อย ไม่เครียดแย่เหรอ?

ลองคิดตามนี้ ว่าจริงมั้ย

ชีวิตที่เราดำเนินมาจนถึงวันนี้ เวลานี้ ล้วนเป็นผลจากการตัดสินใจของตัวเราเองในอดีตที่ผ่านมาทั้งสิ้น จริงมั้ย? คำถามก็คือวันนี้เราพึงพอใจกับชีวิตแล้วหรือยัง ถ้าที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้พลังงานในการตัดสินใจมากเท่าไหร่ แต่วันนี้เรารู้สึกพึงพอใจกับชีวิตมาก ผมบอกได้เลยว่านี่คือสิ่งที่ยอดเยี่ยมมากๆ เพราะคุณได้ค้นพบตัวเองเจอแล้ว และการตัดสินใจส่วนใหญ่ที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่คุณได้วางแผน และสร้างมันจนสำเร็จถึงตอนนี้ได้แล้วนั่นเอง

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในชีวิตของคนส่วนใหญ่ไม่เป็นอย่างนั้น ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ล้วนไม่พึงพอใจกับชีวิต ณ ปัจจุบัน และต่างอยากมีชีวิตที่ดีกว่าวันนี้ ซ้ำร้ายบางคนอาจจะไม่ได้รู้สึกเติบโตขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านไปเลย อีกส่วนก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จแล้ว ดังนั้นคนส่วนใหญ่ก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าในทุกๆการตัดสินใจของเราที่ผ่านมานั้น เรามักง่ายกับการตัดสินใจในแต่ละเรื่องหรือเปล่า ถ้าใช่ ก็แก้ไขเพื่อให้ไปสู่หนทางที่ดีขึ้นครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *