เงินเดือนที่มากขึ้นทำให้ระเบียบวินัยทางการเงินหย่อนยาน

money will be running out

ผมเคยเป็นคนที่ทำบัญชี และ ดูแล ใส่ใจ รายละเอียดทางการเงินมาตั้งแต่สมัยเรียน ป. ตรี แต่ว่า เมื่อวันเวลาผ่านไป รายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความใส่ใจรายละเอียดทางการเงินลดลง จนแทบจะไม่ใส่ใจอีกเลย

เมื่อก่อนทำบัญชีส่วนตัวละเอียด และ บ่อยมาก ผมดูสุขภาพทางการเงินตัวเองอยู่ตลอดเวลาทำให้รู้ว่าตอนนี้เรามีฐานะทางการเงินเป็นอย่างไร เรามีเงินเก็บแค่ไหนเก็บในบัญชีใดเท่าไหร่บ้าง แต่เมื่อวันเวลาที่ผ่านไป เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นทำให้วินัยทางการเงินหย่อนยานลงไปเรื่อยๆ เมื่อผมได้รายรับมากขึ้น
ผมจึงค่อยๆเปลี่ยนความคิด จากเดิมที่ประหยัด กลายเป็น “เราหาเงินได้เยอะแล้วเราจึงสามารถใช้เงินได้เยอะ” ไม่จำเป็นต้องจัดสรรเหมือนเมื่อก่อนตอนที่หาเงินได้น้อยๆ ผมยอมรับตรงจุดนี้เลยว่านี่คือสิ่งที่ผิดพลาด

จนเมื่อวานนี้ผมคิดว่า ไม่ได้แล้ว เราต้องกลับมาดูแลสุขภาพทางการเงินอย่างจริงจัง เพราะว่าเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ใช้เงินไปเยอะมากจริงๆ (แน่นอน หนึ่งในนั้นคือ โทรศัพท์เครื่องใหม่ xiaomi mi mix2 ) จึงมานั่งจัดระเบียบทางการเงินของตัวเองใหม่ จึงพบว่า การจัดการด้านการเงินในช่วงที่ผ่านมา แย่มากๆ เพราะผมไม่ได้จัดระเบียบเลยว่าต้องออมเงินเท่าไหร่, ลงทุนเท่าไหร่, ซื้อประกันแค่ไหน ไม่ได้วางแผนอนาคตเลย โดยเฉพาะทางการเงิน (ไม่นับ ประกันที่เคยซื้อมานานแล้ว และจ่ายต่อไป ทุกปี หรือว่า LTF ที่ซื้อแบบ ไม่ได้มีแผนอะไรเลย หรือ ประกันเล่มล่าสุดที่ซื้อมาโดย ไม่ได้วางแผนอีกเช่นกัน แต่เห็นว่าเงินเก็บบางส่วนมันเหลือ ที่มันอาจจะเป็นหลักประกันเล็กๆ ในอนาคตอันแสนไกล)

แต่ผมยังมีโอกาสกลับตัว เพราะรูปแบบการใช้เงินของผมที่ติดตัวมาแต่เด็กคือ พยายามใช้ไม่เยอะ นั่นแปลว่า เงินได้ที่ได้มา ลบด้วยรายจ่ายที่ไม่เยอะจึงกลายเป็นเงินเก็บที่เยอะเช่นกัน (จริงๆแล้วความคิดนี้ผิดนะครับ) แต่อย่างที่บอก ด้วยอำนาจการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้เงินเก็บน้อยลงมาก ถึงเข้าขั้นติดลบ! (แปลว่าเอาเงินออม ออกมาใช้โดยที่ไม่รู้ตัว เพราะมัวแต่ใช้)

ตอนนี้ผมเริ่มกลับมาจัดระเบียบใหม่อีกครั้งโดยนำเงินที่ได้ทั้งหมด ผมจะเล่าเทคนิคสั้นๆแล้วกันนะครับ
จะได้เป็นแนวทางเอาไปทำตาม

เริ่มต้นจากสร้าง excel sheet หรือ google sheet หรือเขียนใส่กระดาษก็ได้
บรรทัดแรก ใส่รายได้ต่อเดือนลงไป เช่น เงินเดือน 25000 บาท (เป็นตัวเลขเงินที่เข้าบัญชีเราจริงๆนะ ไม่เอาเลขที่ได้ก่อนหัก ภาษี นู่นนี่นั่น)

บรรทัดต่อไป ให้ใส่รายการ เงินออม โดยให้ได้อย่างน้อย 10% ของรายรับ เช่น
ซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ 3000 บาท เหลือ 22000 บาท
ซื้อประกัน 1000 บาท เหลือ 21000 บาท
เหมือนหมดรายการเงินออมแล้ว บรรรทัดต่อๆไป ให้ใส่รายจ่ายที่ต้องจ่ายออกทุกเดือน รายการละ 1 บรรทัด เช่น
ค่าเช่าบ้าน 8000 บาท เหลือ 13000 บาท
ค่าน้ำ ค่าไฟ 1000 บาท เหลือ 12000 บาท
ค่า internet 600 บาท เหลือ 11400 บาท
ค่าโทรศัพท์ 700 บาท เหลือ 10700 บาท
จ่ายค่าบัตรเครดิต 2000 บาท เหลือ 8700 บาท

ไล่ลงมาเรื่อยๆ แต่เรายังไม่ใส่รายการที่แปรผันตามการใช้รายเดือนนะครับ เช่น อาหาร, ค่าเดินทาง, ดูหนัง,ท่องเที่ยว ฯลฯ เน้นที่รายการที่ต้องจ่ายออกแบบคงที่ก่อน (จ่ายบัตรเครดิต ถือว่าอยู่ส่วนที่ต้องจ่ายออกก่อนเสมอนะครับ ดังนั้น ใช้แล้วจดบันทึกทันทีว่าต้องจ่ายเท่าไร)
เมื่อจบรายจ่ายที่ต้องจ่ายออกทุกเดือนแล้ว ให้ดูที่เงินเหลือ เช่น เหลือ เงิน 7500 บาท นี่คือเงินที่เหลือให้เราใช้ทั้งเดือนนะครับ!

หลักที่สำคัญคือ ตั้งเงินออมเป็นบรรทัดแรก! ถ้ามองเห็นว่า เงินเหลือบรรทัดสุดท้ายน้อยมาก เช่น 1000 บาทจะไปพอกินได้อย่างไร ให้เรามองย้อนขึ้นไปที่บรรทัดรายจ่ายนะครับ ว่าจะตัดอะไรออกได้มั้ย จะลดอะไรได้บ้างหรือเปล่า (ตัด ไม่ได้แปลว่าไม่จ่าย แต่หมายถึง เลิกใช้บริการ หรือใช้น้อยลง เช่น เลิกใช้บัตรเครดิตเลย หรือว่า เปลี่ยน internet ให้ถูกลง หรือ ใช้โทรศัพท์มือถือให้น้อยลง ย้ายไปอยู่ห้องเช่าที่จ่ายถูกกว่านี้) เมื่อ มีรายได้เท่าเดิม รายจ่ายลงลง เงินที่เหลือให้ใช้ ก็จะเพิ่มขึ้น อย่าลดตัวเลขเงินออมนะครับ เว้นแต่ว่า ไม่สามารถตัดรายจ่ายอะไรได้อีกแล้ว กรณีนี้ ลดลงได้ ให้เหลืออย่างน้อย 10% ของรายได้ ก็คือ 2500 บาทเป็นอย่างน้อยนะครับ นี่คือขั้นต่ำแล้ว คิดไว้เสมอ เผื่อฉุกเฉินครับ

ต่อจากนั้น เราต้องวางแผนเลย 30 วัน วันละ 250 บาท (ตัวอย่างข้างบนเหลือเงิน 7500 ใช้ทั้งเดือน) ใช้อย่างไรให้พอ แต่จะปรับความคิดว่า มีเงินใช้แค่ 200 บาทต่อวัน ใช้อย่างไรให้พอ ก็จะดีนะครับ เพราะบางทีเรามีเหตุที่ต้องใช้เงินแบบไม่คาดคิดอีก เช่น อุบัติเหต, ของใช้บางอย่างเสียหาย ฯลฯ ต้องซื้อ เราจะได้มีเงินส่วนต่างอีกวันละ 50 บาทเอาตรงนั้นมาใช้ครับ (ถ้าใช้ชีวิตใน กทม แบบไม่ตามกระแส เช่นกินกาแฟแก้วละ 100 บาท มีเงินใช้ได้ไม่เกินวันละ 200 บาทอยู่ได้สบายแน่นอนครับ)

สำหรับของผม เมื่อทำเสร็จแล้วผมมองเห็นตัวเองว่า ใน 1 เดือนนั้นมีอะไรที่ต้องจัดการทางด้านการเงินเยอะมาก ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาผมไม่ได้ทำมันเลย และยังถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะผมยังไม่เกิดวิกฤติทางการเงินก่อน

ผมจึงอยากเตือนไม่ว่าคุณจะมีรายรับมากเลยน้อยเท่าไร จากทางใดบ้างก็ตาม คุณควรจะวางแผนเอาไว้ ว่าได้เงินเดือนมา X บาท จะนำไปออมส่วนไหนเท่าไหร่บ้าง ลงทุนในส่วนไหนเท่าไหร่บ้างซื้อประกันเท่าไหร่ วางแผนอนาคตบำนาญตัวเองอย่างไร อาจจะเป็นประกันหรือเป็น RMF ก็ได้ แต่ต้องเริ่มทำ ให้เร็วที่สุดเท่าที่คุณจะไหวตัวทัน

เพราะวันเวลาที่ผ่านไปและเงินที่ใช้ไปโดยไม่ได้วางแผนมันไม่อาจหวนคืนมาเพื่อแก้ไขได้อีก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *