ประสบการณ์ การเป็น CEO ต้องเจออะไรยังไงบ้างในเส้นทางนี้ เล่าได้จากชีวิตจริงๆเลย พร้อมข้อคิดทิ้งท้ายเอาไว้
ทำอะไรมาก่อนนี้
หลายปีที่ผ่านมา ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการ ที่เกี่ยวข้องกับ eCommerce ของหลายๆเว็บหลายๆบริษัท พูดชื่อไปก็ต้องมี อ๋อ แน่นอน
แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่รู้ แม้กระทั่งระดับผู้บริหารหรือคนที่อยู่สายงานธุรกิจ ก็คือ การบริหารจัดการโครงการที่เกี่ยวข้องกับ eCommerce นั้น มันเหมือนการสร้างบริษัทขึ้นมาอีก 1 บริษัท ภายใต้บริษัทที่กำหนดให้เราทำ ก็ลองคิดดูง่ายๆว่า eCommerce จะต้องมี ทีมเทคโนโลยี ในการสร้างระบบ จะต้องมีทีม financial control ในการดูแล เรื่องเงิน รายรับรายจ่ายที่เกิดจาก eCommerce และ transaction ต่างๆ ซึ่งมันจะแตกต่างกับการซื้อขายแบบออฟไลน์โดยปกติ ต้องมีทีมกฎหมาย ที่รู้และเข้าใจในการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ หรือชื่อที่หลายคนจะคุ้นหูว่า ธุรกิจขายตรง กับอีกเรื่องก็คือ กฎและข้อบังคับต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ยังไม่พอ ต้องมีทีมงานบริหารส่วน Operation ว่าตั้งแต่ทีม customer support ทีม Warehouse ทีมจัดส่ง กว่าจะได้คนทั้งหมดนี้ก็ต้องมี HR มาอีก แล้วไหนจะทำให้มีเชื่อเสียง ดันยอดขาย Marketing , Sale ก็ต้องมา ยาวไปยันการวิเคราะห์ตัวเลขจากแง่มุมต่างๆ เพื่อ ให้มีผลดีต่อธุรกิจก็คือ BI (data analytics) ลองคิดดูครับ ต้องบริหารทุกอย่างเหล่านี้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำ eCommerce ทั้งหมดเลย นี่เรียกได้ว่า ก็คือบริษัทย่อยๆ ในบริษัทหลักนั่นเอง ดังนั้น skill ที่ผ่านมาหลายปี ก็เรียกได้ว่าแก่กล้าพอสมควรแล้วล่ะ เพราะไม่ต่างจากการที่ต้องดูแลบริษัทหนึ่งเลย
แล้วมาเป็น CEO ได้อย่างไร
แน่นอนครับว่าต้องมีโอกาส พี่ที่เป็น Partner กันเขาหยิบยื่นมาให้ในจังหวะที่ไม่ทันตั้งตัว หลังจากที่พิจารณาแล้ว ก็รับเอาไว้ อยากจะรู้เหมือนกันว่ามันจะยากสักแค่ไหน แต่ก่อนจะเข้ามารับหน้าที่ ก็รู้มาก่อนแล้วว่าโจทก์นี้ไม่ง่ายแน่นอน เนื่องจากบริษัทที่กำลังจะเข้าไปดูแล ในช่วงนั้นสถานการณ์ไม่ค่อยดีเลย (เป็นบริษัท software house พัฒนา Software ให้ภาครัฐบาล) มีปัญหา ในหลายส่วนมากๆ เช่น บริษัทไม่มี process, ไม่มีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน, งานล่าช้ากว่ากำหนด, ยังไม่รู้ว่างานมีความผิดพลาดที่ตรงไหนบ้าง, ระบบควบคุมภายในไม่มี และปัญหาอื่นๆอีกมากมาย
โดยส่วนตัวมองว่า human is no limit ดังนั้นเราต้องบริหารจัดการได้อย่างแน่นอน งั้น ลุย!
CEO ต้องทำอะไรบ้าง
จากเดิมที่บอกว่าโจทย์ยากอยู่แล้ว ตอนที่มาเริ่มต้นจำได้แม่นเลย เริ่มทำงานได้แค่ประมาณ 2 อาทิตย์ ทีมโปรแกรมเมอร์ที่มีอยู่ 5 คน ลาออกไป 3 คนพร้อมกัน ปัญหาใหญ่ก็คือ บริษัทนี้คือบริษัทที่ทำ Software ดังนั้นหัวใจหลักของบริษัทก็คือ โปรแกรมเมอร์ แต่หัวใจหลักของบริษัทก็ซ้ำเติมปัญหาเพิ่มขึ้นมาซะอีก จากเดิมที่ว่างานยากนี่กลายเป็นงานโคตรยากไปซะแล้ว จำได้ว่าตอนนั้นถึงกับนอนไม่หลับเลยทีเดียว ส่วนสาเหตุที่ 3 คนลาออกเป็นเพราะเรื่องส่วนตัวของแต่ละคนกับเรื่องปัญหาที่สะสมมาเป็นระยะเวลาแรมปี ก่อนที่ผมจะเข้ามา จึงนัดกันมาก่อนแล้วที่จะลาออกพร้อมกัน ส่วนผมนั้น เป็นคนที่เข้ามารับกรรมอีกที (เละ)
แน่นอนว่างานของ CEO คืองานแก้ปัญหา แต่ว่าไป จริงๆก็ทุกตำแหน่งงานนั่นแหละเขาจะให้เรามาแก้ปัญหา เพียงแต่ว่า CEO ก็ต้องแก้ปัญหาทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องคน เรื่องระบบงาน เรื่องเงิน เรื่องชื่อเสียงบริษัท เรื่องแผนกลยุทธ์ เรื่องการเดินหมาก เรื่องการสื่อสาร เรื่องนโยบาย สวัสดิการ เงินเดือน และอื่นๆอีกมากมาย ทุกเรื่องที่จะจินตนาการได้ ที่ทำให้บริษัทเดินหน้าต่อไปได้เลย
ถ้าจะให้สรุปง่ายๆ ก็พอจะสรุปให้ได้เหมือนกัน
เรื่องคน
CEO จะต้องวางโครงสร้างองค์กรให้ได้ และต้องสอดคล้องกับแนวทางของบริษัท รวมไปถึง สิ่งที่ผู้ถือหุ้นต้องการ จะต้องกำหนด ความเป็น senior Junior ของแต่ละตำแหน่งในแต่ละโครงสร้างทีมย่อยได้ด้วย นั่นก็ว่าไปจนถึงเรื่องของ เงินเดือนสวัสดิการ Career path การเติบโตของพนักงาน ซึ่งมันก็จะตามมาด้วยเรื่องของค่าใช้จ่ายบริษัท เพราะทุกอย่างต้องใช้เงิน ก็แน่นอน เราไม่ใช่มูลนิธิ นี่นา
เรื่องเงิน
เป็น CEO จะไม่รู้เรื่องเงินได้ยังไง CEO จะต้องเข้าใจว่าบริษัททำอะไร รายได้มาจากไหน จุดแข็งของบริษัทคืออะไร กลยุทธ์ของบริษัทคืออะไร และจะต้องรู้ว่ารายจ่ายของบริษัททั้งบริษัท เกิดจากอะไรได้บ้าง ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของคน อย่างกรณีของผม ผมต้องไล่ค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เรื่องที่สำคัญ ก็คือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานทั้งหมด ยันไปจนถึงขนมปังและนมที่แช่อยู่ในตู้เย็นกันเลยทีเดียว พวกนี้มันคือค่าใช้จ่ายทั้งหมด CEO จะต้องรู้สามารถ Forecast รายรับรายจ่ายได้ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของบริษัท รวมทั้งนโยบายที่มาจากผู้ถือหุ้นของบริษัทอีกทีนึงด้วย
เรื่องงาน
เป็น CEO ก็ต้องทำงานเหมือนพนักงาน นอกเหนือจากเรื่องเงิน และเรื่องคนที่ CEO ต้องบริหารแล้ว ก็ต้องทำงานเหมือนคนอื่นไหมใช่ครับ ผมก็ต้องเข้าไปทำความเข้าใจของระบบการทำงานของซอฟต์แวร์ที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่ จะต้องรู้ว่าจุดแข็งจุดอ่อนมันคืออะไร ในยามที่เกิดปัญหาจะได้แก้ไขได้อย่างถูกต้อง หรือว่าในยามปกติก็สามารถคิดวางแผนกลยุทธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ กำหนดให้เป็นทิศทางของทีมที่จะดำเนินต่อไป ดังนั้น CEO จำเป็นที่จะต้องเข้าใจในตัวระบบงานของบริษัท ที่ทุกคนและทุกฝ่ายกำลังทำกันอยู่ด้วย ย้ำว่าทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่เรื่องงานหลักที่สร้างเงินให้บริษัทเท่านั้น แต่ระบบงานในส่วนใดก็ตาม ว่าตั้งแต่การสรรหาบุคคล การจัดการเรื่องกระแสเงินสด การเดินงานเอกสาร แม้กระทั่งวิธีการสื่อสารระหว่างกัน และอื่นๆ ทุกเรื่องจริงๆ CEO ก็ต้องรู้เห็นและเข้าใจและวางแผนให้ปฏิบัติงานได้อย่างสอดคล้องและต่อเนื่องกัน
เรื่องการตลาด
ใช่ครับ บริษัทใดก็ตามไม่ควรเป็นบริษัท no name ที่ไม่มีใครบนโลกใบนี้รู้จักเลย เพราะนั่นจะทำให้โอกาสของคนที่ใช้บริการบริษัทของคุณน้อยลงไปมาก ดังนั้น CEO ก็ต้องรู้จักแนวทางการทำการตลาดของบริษัทตัวเองด้วย ส่วนบริษัทที่ผมดูแล เนื่องจากไม่มีแผนการตั้งทีมการตลาดเลยจึงไม่มีพนักงานทำงานในส่วนนี้แม้แต่คนเดียว(มีเหตุผลอยู่ครับ) ดังนั้นงานนี้ก็ตกเป็นของ CEO นี่แหละ ทำร่วมกับน้องในทีมอีกบางคน เพื่อให้บริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้น จริงๆแล้วมันมีนัยยะซ่อนอยู่ครับ พอบริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้นจะมีโอกาสที่มีคนมาใช้บริการมากขึ้น และในยามที่บริษัทต้องการคนก็จะสามารถหาคนได้ง่ายมากขึ้นด้วย คือยังไงก็ตามถ้าเราทำให้บริษัทเป็นที่รู้จัก ย่อมดีกว่าปล่อยให้บริษัทเป็น no name แน่นอน
งานเอกสาร
ถ้าบอกว่า CEO คนไหนที่ไม่ต้องมีงานเอกสาร ผมว่าไม่ใช่เรื่องจริง หรือ เค้าไม่ได้เป็น CEO ตัวจริงแน่นอน เพราะว่าเอกสารต่างๆก็ต้อง review ก่อนที่จะลงนามอนุมัติ ทุกค่าใช้จ่ายก็ต้องผ่านตาหมด เนื่องจากผมเป็นบริษัทขนาดไม่ใหญ่ ดังนั้น ค่าใช้จ่าย ก็ต้องผ่านตา ตั้งแต่หลักล้าน ยันค่าส่งไปรษณีย์ 16 บาทกันเลย แต่ที่นอกเหนือจากนั้นก็คือ การสร้างระบบงานเอกสารขึ้นมา เพราะอย่างที่เล่าว่าก่อนเข้ามารับตำแหน่ง มันไม่ได้มีอะไรเลย ก็ต้องสร้างระบบงาน กำหนดผู้อนุมัติต่างๆ แนวทางการปฏิบัติ รวมไปยังสร้าง template เอกสารอีกบางส่วนขึ้นมาใหม่ด้วย เรียกว่า ทำทุกอย่างจริงๆ
วัฒนธรรมองค์กร
เรื่องนี้ CEO หลายคนละเลยเพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่ส่วนตัวของผม ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะมีความเชื่อว่า การสร้างบริษัทในระยะยาวมันมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ถ้าวัฒนธรรมองค์กรที่ดีมากพอ คนที่ทำงานร่วมกันก็จะมีแต่คนทำงานที่ดี ที่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรนั้นและบริษัทก็จะเดินหน้าต่อไปในระยะยาวได้ เรื่องนี้ ผมไม่ได้แค่ทดสอบทำ แต่ผมได้เก็บ feedback จากทีมงานมาแล้วด้วยว่ามันเป็นแนวทางที่ดีจริงๆ ทีมทำงานตอนนี้เหนียวแน่นกันมาก มีความยินดีที่จะช่วยเหลือกันและกัน ในช่วงที่ตัวเองงานโหลด เพื่อนก็เข้ามาช่วยถือ ในช่วงที่ตัวเองงานน้อยก็เข้าไปช่วยเพื่อน นี่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ผมตั้งใจสร้างขึ้นมา และมันก็ให้ผลลัพท์ที่ดีมากด้วย นี่แหล่ะ คือการทำงานเป็นทีม ที่แท้จริง
แก้ปัญหา
อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นเลยว่างานหลักของ CEO ก็คืองานแก้ปัญหานั่นแหละ แต่งานแก้ปัญหาของ CEO อย่างที่บอกมันจะแตกต่างจากพนักงานโดยทั่วไปมาก เพราะในแต่ละวันจะมีปัญหาที่เข้ามาไม่ซ้ำเรื่องไม่ซ้ำรูปแบบ ไม่ซ้ำแนวทางในการแก้ไข บางเรื่องแก้ได้ทันที บางเรื่องแก้ไม่ได้ บางเรื่องต้องให้คนอื่นแก้ ความเร่งด่วนก็ไม่เหมือนกัน บางเรื่องต้องแก้เลย บางเรื่องต้องแก้ทีหลัง เรื่องนี้ต้องใช้ sense ส่วนตัวเข้ามาช่วยมากๆ บวกกับประสบการณ์ที่ผ่านมา จะช่วยคิดหาทางแก้ไข ได้ดีมากๆ แต่ก็พูดตรงๆว่า CEO ก็ไม่ใช่ยอดมนุษย์ บางครั้ง ก็เพียงแค่ถามทีมงานว่ามีความเห็นว่ายังไง สุดยอดคำตอบของการแก้ปัญหาก็อาจจะออกมาจากทีมงานของคุณเองนั่นแหละ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องจะรอคอยแต่คำตอบจากทีมงานเป็นอย่างเดียว ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่น่าจะใช่ CEO แล้วล่ะ
ได้อะไรจากการเป็น CEO
ผมได้ทำหลายๆสิ่งที่อยากทำมานาน แต่ไม่สามารถทำได้เมื่อตอนที่ตัวเองเป็นพนักงานระดับยังไม่สูงพอ เช่นการกำหนดนโยบายบริษัทที่มันสอดคล้องกับการทำงานของบริษัทโดยทำให้บริษัทได้มีผลผลิตที่มากขึ้น ในขณะที่ความเครียดของพนักงานลดลง เช่น แนวทางของการทำงานที่บ้าน ที่ผมตั้งไว้เป็นแนวทางมาตั้งแต่ก่อนที่จะโลกเรารู้จัก Virus Corona เสียอีก และได้พิสูจน์ สมมติฐานหนึ่งที่ผมเคยคิดเอาไว้ก่อนที่จะมารับตำแหน่งนี้ว่า ผมเชื่อว่าตัวเองมีความพร้อมมากพอที่จะมาทำงานในตำแหน่งนี้ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมก็ทำมาทุกอย่างก็เหมือนว่าตัวเองเป็น CEO ของบริษัทแล้วนั่นแหละ เพียงแต่ว่าด้วยตำแหน่งมันไม่ใช่แค่นั้นเอง แล้วเมื่อวันนั้นมาถึงมันก็เป็นบทพิสูจน์ว่า มันเป็นอย่างที่ผมคิดจริงๆ คือผมสามารถทำได้และมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการแก้ไขปัญหาก็มาจากประสบการณ์ที่เคยแก้ไขปัญหามาแล้วทั้งหมดนั่นแหละ ตั้งแต่ตอนที่ตัวเองยังไม่เป็น CEO
อยากจะฝากอะไรไว้สำหรับคนที่มาอ่าน
เรื่องนี้ผมพึ่งเล่าให้กับน้องจูเนียร์จบใหม่ในบริษัทไปเมื่อ 2 วันก่อน วันหนึ่ง ที่คุณได้โอกาสขึ้นมาทำงานใหญ่ คุณจะกลัว แต่ขอให้รู้ไว้ว่าความกลัวมันเป็นเรื่องปกติของทุกคนและมันก็เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง เราก็แค่ก้าวเข้าไป แล้วก็ทำมัน ทำมันให้ดีที่สุด ทำมันให้เต็มที่ที่สุด แล้วคุณก็รอดูผลลัพธ์ ผมไม่ได้บอกว่ามันจะสำเร็จ แต่สิ่งที่คุณจะจดจำหลังจากเหตุการณ์นั้นก็คือ คุณจะแข็งแกร่งขึ้น หากมีงานที่ใหญ่เท่าเดิมมาให้คุณทำอีกครั้ง คุณก็จะรู้แล้วว่าคราวนี้จะทำยังไงให้เราไม่พลาด(หรือให้สำเร็จได้เหมือนที่ผ่านมา) และเราก็จะพร้อมสำหรับงานที่ใหญ่ขึ้นไปอีก ก็เป็นแบบนี้วนซ้ำไปเรื่อยๆ
ทั้งหมดนี้ผมเรียกมันว่า “ประสบการณ์” อย่าไปกลัว เก็บประสบการณ์ให้เยอะ พุ่งไปทำงานใหญ่แล้วคุณก็จะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ เชื่อผม